(* กดเพื่อเปลี่ยนสีพื้นหลัง)

new

ฮ่องเต้ผู้ประสูติผิดยุค..พระเจ้าฮั่นเซี่ยนตี้แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออกหลิวเสีย

ฮ่องเต้ผู้ประสูติผิดยุค..พระเจ้าฮั่นเซี่ยนตี้แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออกหลิวเสีย

ฮั่นเซี่ยนตี้  (เหี้ยนเต้[1])ชื่อรองว่าปั๋วเหอ เป็นพระโอรสองค์รองในฮั่นหลิงตี้ เป็นพระอนุชาต่างมารดากับฮั่นเส้าตี้ ในปีที่ 6 รัชศกจงผิง (ค.ศ.189) อันเป็นรัชศกของฮั่นหลิงตี้ ฮั่นเซี่ยนตี้ขึ้นครองราชย์ ปีที่ 1 แห่งรัชศกเหยียนคัง (ค.ศ.220) ประกอบพิธียกราชบัลลังก์ให้เว่ยเหวินตี้เฉาพี  (โจผี)ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์เว่ย ฮั่นเซี่ยนตี้เป็นฮ่องเต้องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ตลอดเวลาที่อยู่ในราชบัลลังก์ ชีวิตของพระองค์เต็มไปด้วยความเป็นโศกนาฏกรรม

 

ตั้งองค์ใหญ่หรือองค์เล็ก

ฮั่นเซี่ยนตี้หลิวเสีย  (เล่าเหียบ)เป็นพระโอรสองค์ที่สองในฮั่นหลิงตี้  (เลนเต้) ประสูติในปีที่ 4 แห่งรัชศกกวางเหอ (ค.ศ.181) มีพระชะตาลำบากมาตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ หลังจากหลิงตี้ถอดซ่งฮองเฮาลงได้สองปีก็ตั้งนางเหอซึ่งเป็นสนมตำแหน่งกุ้ยเหรินขึ้นเป็นฮองเฮา เหอฮองเฮาชาติกำเนิดต่ำต้อย เป็นบุตรีคนฆ่าสัตว์ บิดาชื่อเหอเจินตั้งถิ่นฐานอยู่ที่หนานหยาง หลังทำการค้าร่ำรวยขึ้นก็อยากคบหากับผู้มีอำนาจอิทธิพลเพื่อยกสถานภาพของตน ประจวบเหมาะมีการคัดนางใน เหอเจินติดสินบนขันทีจนบุตรีได้รับการคัดเลือกเข้าวัง นางเหอรูปโฉมงดงาม ฮั่นหลิงตี้ซึ่งใฝ่พระทัยในอิสตรีมีใจโปรดปราน ต่อมานางเหอให้กำเนิดพระโอรสหลิวเปี้ยน[2]นางต้องการให้พระโอรสเติบโตอย่างปลอดภัย จึงไปฝากบ้านสื่อเต้าเหรินเลี้ยงไว้ หลังให้กำเนิดพระโอรส นางเหอได้รับการแต่งตั้งเป็นสนมตำแหน่งกุ้ยเหริน ต่อมาก็ได้รับการสถาปนาเป็นฮองเฮา เหอจิ้น  (โฮจิ๋น) ซึ่งเป็นพี่ชายก็ได้ตำแหน่งขุนนางใหญ่เข้านอกออกในพระราชวังได้

เหอฮองเฮานิสัยขี้ระแวง คอยระวังป้องกันมิให้ผู้ใดมาแย่งตำแหน่งตนไปได้ นางหวางมารดาของหลิวเสียเป็นพระสนมตำแหน่งเหม่ยเหริน ชาติตระกูลสูง เป็นหลานสาวของแม่ทัพหวางเปา ตอนหวางเหม่ยเหรินตั้งครรภ์ เหอฮองเฮาล่วงรู้ก็พยายามหาทางฆ่าเสีย หวางเหม่ยเหรินแอบกินยาทำแท้ง แต่ยาไม่ได้ผล ท้ายสุดก็คลอดพระโอรส เดิมหลิงตี้ไม่ทรงทราบ พอทราบว่าหวางเหม่ยเหรินให้กำเนิดพระโอรสก็ดีพระทัย ตั้งชื่อว่าหลิวเสีย หลังคลอด หวางเหม่ยเหรินต้องกินยาบำรุง เหอฮองเฮาให้คนใส่ยาพิษไว้ในยาบำรุงนั้น หวางเหม่ยเหรินดื่มยาก็สิ้นใจ หลิงตี้ได้ข่าวก็ไปดูศพ เห็นแขนขานางเป็นสีเขียวคล้ำก็รู้ว่าตายเพราะถูกยาพิษ จึงให้คนสืบหาผู้วางยา พอรู้ว่าเป็นฝีมือเหอฮองเฮาก็กริ้วจัด ตั้งพระทัยจะถอดเหอฮองเฮาออกจากตำแหน่งพระมเหสี เหอฮองเฮาหวั่นวิตก จึงติดสินบนขันทีเฉาเจี๋ย ขันทีจางรั่งและพวก ขอให้พวกเขาช่วยทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้ หลิงตี้ยอมเว้นโทษให้ แต่เกรงหลิวเสียจะประสบเคราะห์กรรม จึงให้นำตัวหลิวเสียไปให้ต่งไทเฮาซึ่งอยู่ที่ตำหนักหย่งเล่อกงเลี้ยงดู

เมื่อถึงบั้นปลายพระชนมชีพ หลิงตี้ต้องทรงเผชิญกับปัญหาผู้สืบทอดบัลลังก์ พระโอรสองค์ใหญ่หลิวเปียนซึ่งประสูติจากเหอฮองเฮา กิริยาไม่สำรวม ไม่สง่างามควรแก่การเป็นฮ่องเต้ หลิงตี้ไม่โปรดปราน ครั้นจะตั้งหลิวเสียซึ่งเป็นพระโอรสองค์เล็กก็กลัวเหอฮองเฮากับเหอจิ้นไม่เห็นด้วย จึงรีรอไม่ตัดสินพระทัย เดือน 4 ปีที่ 6 แห่งรัชศกจงผิง (ค.ศ.189) หลิงตี้ประชวรหนัก ทราบพระองค์ว่าจะลากโลกไปในไม่ช้า จึงปรึกษากับเจี่ยนซั่ว (เกียนสิด) ขันทีคนโปรดซึ่งดำรงตำแหน่งซ่างจวินเซี่ยวเว่ย[3] ให้เจี่ยนซั่วช่วยหนุนหลิวเสียเป็นฮ่องเต้ ไม่นาน หลิงตี้ก็ประชวรสวรรคต เจี่ยนซั่วไม่ประกาศข่าวสวรรคต ปลอมราชโองการเรียกแม่ทัพใหญ่เหอจิ้นมารับคำสั่ง เหอจิ้นรับพระราชโอการก็รีบเข้าวัง พอมาถึงประตูวังก็ได้พบกับพานอิ่นซึ่งรับราชการอยู่กับเจี่ยนซั่ว พานอิ่นกับเหอจิ้นเป็นสหายกันมานาน จึงรีบทำมือบอกใบ้เหอจิ้นให้รู้ตัว ไม่ให้เขาเข้าไปในวัง เหอจิ้นรีบล่าถอยกลับไปในค่ายทหาร แผนการของเจี่ยนซั่วไม่บรรลุผล จำต้องตั้งพระโอรสหลิวเปี้ยนเป็นฮ่องเต้ ประวัติศาสตร์เรียกพระเจ้าฮั่นเส้าตี้ เหอฮองเฮาเป็นเหอไทเฮา ขณะนั้นหลิวเปี้ยนทรงพระชนม์สิบสี่พรรษา ยังว่าราชการเองไม่ได้ เหอไทเฮาจึงว่าราชการแทน

การเข่นฆ่าระหว่างพระญาติฝ่ายในกับขันที

หลังจากเหอจิ้นได้กุมอำนาจ ก็วางแผนสังหารเจี่ยนซั่วเพื่อล้างแค้น ไม่เพียงเท่านั้น ยังจะฉวยโอกาสนี้กวาดล้างกลุ่มขันทีให้สิ้นซาก เวลานั้นหยวนส้าว (อ้วนเสี้ยว) ซึ่งเป็นจั่วจวินเซี่ยวเว่ยกลับมาเมืองหลวง จึงมาร่วมวางแผนกับเหอจิ้นเพื่อกำจัดกลุ่มขันที ทางฝ่ายเจี่ยนซั่วก็เตรียมการโต้กลับอย่างเต็มที่ ให้เขียนจดหมายลับไปหาขันทีจ้าวจงและขันทีซ่งเตี่ยน โดยให้ขันทีกัวเซิ่งไปส่ง กัวเซิ่งเป็นคนบ้านเดียวกันกับเหอจิ้น ปรกติมีความสัมพันธ์กันดี  จึงเอาจดหมายลับของเจี่ยนซั่วไปให้เหอจิ้น พอเหอจิ้นได้อ่านก็ตกใจ เนื้อความเขียนว่าแม่ทัพใหญ่เหอจิ้นกุมอำนาจ หมายจะรวมหัวกับพวกพ้องสังหารคนสนิทของฮ่องเต้ผู้สวรรคตและเหล่าขันที แต่เกรงด้วยเจี่ยนซั่วคุมทหารส่วนพระองค์อยู่ จึงยังไม่กล้าขยับ ขอเชิญท่านทั้งหลายร่วมกันหาทางจับเหอจิ้นมาฆ่าเสีย

เหอจิ้นใช้อุบายของกัวเซิ่ง ตัดสินใจชิงลงมือก่อน ให้คนลวงเจี่ยนซั่วเข้าวังแล้วจับตัวฆ่าเสียในทันที จากนั้นก็ประกาศโทษผิดของเจี่ยนซั่ว ไม่เอาผิดคนอื่น กองทหารส่วนพระองค์ที่เจี่ยนซั่วกำกับอยู่ให้ขึ้นกับเหอจิ้นทั้งหมด

หลังสังหารเจี่ยนซั่ว ความสัมพันธ์ของเหอจิ้นกับต่งจ้งก็ตึงเครียดขึ้น ต่งจ้งมีตำแหน่งเป็นแม่ทัพ เป็นบุตรของต่งฉงพี่ชายพระนางต่งพระมารดาของหลิงตี้ ซึ่งตอนนี้เป็นพระอัยยิกาต่งต่งจ้งมีอำนาจใกล้เคียงกับเหอจิ้น ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ลงให้กัน พระอัยยิกาต่งเป็นผู้เลี้ยงดูหลิวเสียมา รักโปรดปรานหลิวเสียมาก เคยวางแผนกับต่งจ้งว่าจะเกลี้ยกล่อมให้หลิงตี้ตั้งหลิวเสียเป็นรัชทายาท จะได้ทำให้ตนมีอำนาจมั่นคง หลิงตี้รู้สึกลำบากใจ ยืดเวลาอยู่หลายปี ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น หลังจากเหอไทเฮาว่าราชการ เหอจิ้นกุมอำนาจใหญ่ ก็คอยระวังป้องกันมิให้ตระกูลต่งได้กลับมามีอำนาจและเกี่ยวข้องกับราชกิจอีก จึงหาวิธีต่างๆ นานาในการกำราบตระกูลต่ง พระอัยยิกาต่งไม่พอพระทัย ระหว่างสนทนา เคยบริภาษเหอไทเฮาว่า “นางถือดีว่าพี่ชายเป็นแม่ทัพใหญ่ จึงกล้าวางอำนาจบาตรใหญ่ ไม่เห็นใครในสายตา หากข้าให้แม่ทัพต่งเด็ดหัวเหอจิ้น ก็ง่ายราวพลิกฝ่ามือ ดูสิถึงวันนั้นนางจะทำอย่างไร? ” วาจานี้ล่วงรู้ถึงเหอไทเฮาซึ่งก็ไม่ใช่คนที่จะยอมใครง่ายๆ พระนางรีบเรียกตัวเหอจิ้นเข้ามาหารือในวัง สั่งให้เหอจิ้นกำจัดพระอัยยิกาต่งเพื่อมิให้เป็นภัยในวันหน้า เหอจิ้นสั่งให้มหามนตรีทั้งสามพร้อมด้วยแม่ทัพเหอเหมียวน้องชายของตนถวายฎีกาว่า พระอัยยิกาต่งสมคบกับขุนนางกินสินบาทคาดสินบน พร้อมทั้งว่าพระอัยยิกาถือเป็นไท่โฮ่วหรือไทเฮาของเมืองหนึ่ง[4] ไม่ควรอยู่ในเมืองหลวงต่อไป ควรกลับไปพักอยู่เมืองส่วนของตน หลังถวายฎีกาไป เหอไทเฮาก็อนุมัติในทันที ส่งขุนนางไปบีบบังคับให้พระอัยยิกาต่งออกจากวังเหอจิ้นพากำลังทหารไปล้อมจวนของต่งจ้ง และบังคับให้ต่งจ้งมอบตราตำแหน่งมา ต่งจ้งฆ่าตัวตายด้วยความหวาดกลัว ส่วนพระอัยยิกาต่งประชวรสิ้นพระชนม์กระทันหัน หลังจัดการตระกูลต่งเรียบร้อย เหอไทเฮาจึงจัดงานพระราชพิธีศพให้หลิงตี้ ฝังไว้ที่สุดสานเหวินหลิง ตั้งปั๋วไห่หวางหลิวเสียเป็นเฉินหลิวหวาง

แม้จะฆ่าเจี่ยนซั่วแล้ว แต่อิทธิพลกลุ่มขันทีก็ยังไม่หมดไป เวลานี้หยวนส้าวกล่าวกับเหอจิ้นว่า “บัดนี้ท่านแม่ทัพและพี่น้องกุมกำลังทหารส่วนพระองค์ ฟ้าประทานโอกาสดี ท่านแม่ทัพควรฉวยโอกาสนี้ขจัดภัยให้แผ่นดิน ขออย่าได้ลังเลอีกเลย! ” เหอจิ้นเห็นว่าวาจาของหยวนส้าวมีเหตุผล จึงไปหารือกับเหอไทเฮาเพื่อหาทางกำจัดกลุ่มขันที หันมาใช้ปัญญาชนแทน เหอไทเฮาขบคิดอยู่นานก็ตรัสว่า “ขันทีคุมอำนาจทหารส่วนพระองค์เป็นระบบเดิมของราชวงศ์ฮั่น ไยต้องกำจัดทิ้งเล่า? อย่าว่าแต่ฮ่องเต้เพิ่งสวรรคต ข้าก็ไม่เหมาะจะทำงานร่วมกับปัญญาชน รออีกพักหนึ่งค่อยว่ากันเถิด! ” เหอจิ้นพูดอะไรต่อไม่ได้ จึงจำต้องถอยออกมา หยวนส้าวเข้าไปถามความคืบหน้า เหอจิ้นขมวดคิ้วกล่าวว่า “ไทเฮาไม่เห็นชอบ จะทำเช่นไรดี? ” หยวนส้าวร้อนใจ กล่าวว่า “ตอนนี้เหมือนขี่หลังเสือยากจะลง หากเสียโอกาสไป เกรงจะเกิดเภทภัยแก่ตัว! ” เหอจิ้นกล่าวอย่างเชื่องช้าว่า “ข้าว่ามิสู้เชือดไก่ให้ลิงดู ฆ่าตัวหัวหน้าทิ้ง คนที่เหลือยังจะกล้าทำอะไรอีก? ” หยวนส้าวได้ฟังก็ยังรู้สึกว่าไม่เหมาะ กล่าวว่า “ขันทีใกล้ชิดฝ่าบาท ถ่ายทอดพระราชโองการ ขยับหนึ่งก็เคลื่อนถึงร้อย มิใช่ฆ่าเพียงคนสองคนก็จะพ้นเภทภัยได้ อย่าว่าแต่ขันทีเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน มีหรือจะแบ่งหัวหน้าลูกน้อง? ต้องกำจัดพวกเขาให้หมดสิ้นจึงจะไม่ทิ้งปัญหาไว้ในวันหน้า! ”

เหอจิ้นเป็นคนโลเลตัดสินใจไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะทำเช่นไรดี ข้างฝ่ายขันทีจางรั่ง จ้าวจงพอสืบรู้ข่าว ก็เอาแก้วแหวนเงินทองไปติดสินบนอู่หยางจวินมารดาของเหอจิ้นและเหอเหมียวน้องชายของเหอจิ้น อู่หยางจวินได้ข้าวของก็เข้าวังไปหาเหอไทเฮาหลายครั้ง พูดจาให้กลุ่มขันที ทั้งบอกว่าแม่ทัพใหญ่เหอจิ้นมักสังหารคนใกล้ชิดฮ่องเต้ ถืออำนาจมากเกินไป มิใช่เรื่องดีสำหรับฮ่องเต้ พอเป็นเช่นนี้ เหอไทเฮาก็ค่อยๆ ห่างเหินจากเหอจิ้น

เหอจิ้นไม่ได้รับการสนับสนุนจากเหอไทเฮา เวลานั้นไม่กล้าทำการใด หยวนส้าวคอยออกความคิดต่างๆ เสนอให้เขาเรียกผู้กล้าทั้งหลายเข้าเมืองหลวง เพื่อบีบให้ไทเฮากำจัดขันที เฉินหลินซึ่งเป็นเลขานุการของเหอจิ้นเห็นว่าไม่ควร เขาเกลี้ยกล่อมว่า “ชาวบ้านว่า ปิดตาจับนกกระจอก เป็นการเยาะเย้ยคนที่หลอกตัวเองและหลอกคนอื่น ลองคิดดูการจะจับสัตว์เล็กเพียงนี้ยังทำเช่นนั้นไม่ได้ อย่าว่าแต่เรื่องใหญ่ระดับบ้านเมืองเลย บัดนี้ท่านแม่ทัพอาศัยบารมีฮ่องเต้ กุมอำนาจทหารในมือ จะกำจัดขันที ก็เหมือนเอาเตาร้อนๆ มาเผาจนขนไหม้ ง่ายราวพลิกฝ่ามือ ขอเพียงตัดสินใจเฉียบขาดก็จะสำเร็จได้ วันนี้หากเรียกตัวขุนนางท้องที่เข้ามาเมืองหลวง ก็เท่ากับเป็นการยกอำนาจให้ผู้อื่น ไม่เพียงไม่มีความชอบ ยังจะนำมาซึ่งเภทภัยในวันหน้า! ” เหอจิ้นไม่สนใจ กลับให้คนเขียนหนังสือแล้วส่งออกไปยังท้องที่ต่างๆ

ต่งจั๋วเข้าเมืองหลวง

แม่ทัพต่งจั๋ว (ตั๋งโต๊ะ) ได้รับหนังสือก็ส่งคนมารายงานว่าจะเข้าเมืองหลวงในเร็ววัน เหอจิ้นได้ยินก็ดีใจ แต่เหอไทเฮายังคงลังเลไม่ยอมลงมือง่ายๆ เหอเหมียวก็พยายามปกป้องขันที กล่อมเหอจิ้นว่า “ก่อนหน้านี้ข้ากับพี่จากหนานหยางเข้าเมืองหลวง ลำบากหนักหนา เคยได้ขันทีช่วยเหลือ เราจึงได้ดีถึงทุกวันนี้ เรื่องการปกครองหาใช่เรื่องง่าย หากพลั้งพลาดไปก็ยากรั้งคืน หวังให้ท่านพี่คิดให้รอบคอบก่อน! ตอนนี้ไม่สู้สงบศึกกับขันที อย่าเพิ่งผลีผลามทำการใด! ” เหอจิ้นได้ฟังก็นึกลังเลอีก รีบส่งมนตรีที่ปรึกษาฉงส้าวนำหนังสือคำสั่งไประงับการเข้าเมืองหลวงของต่งจั๋ว ต่งจั๋วมาถึงเฉิงฉือแล้ว ไม่ยอมรับหนังสือระงับแต่กลับเคลื่อนพลต่อ ฉงส้าวพยายามทัดทาน ต่งจั๋วจำต้องตั้งทัพอยู่ที่ศาลาซีหยางที่เหอหนานก่อน

หยวนส้าวซึ่งอยู่ที่เมืองหลวงเห็นเรื่องมาถึงขั้นนี้ จึงกล่อมให้เหอจิ้นรีบตัดสินใจฆ่าขันทีทั้งหลาย เหอจิ้นยังคงลังเลไม่ยอมลงมือ หยวนส้าวไม่มีทางเลือก จึงปลอมคำสั่งเหอจิ้นไปยังหัวเมืองต่างๆ จับครอบครัวของเหล่าขันทีมารอดำเนินคดี เหอจิ้นถูกหยวนส้าวบีบจนหมดทางเลือก จึงเข้าวังไปทูลเหอไทเฮา ขอให้รับปากให้สังหารกลุ่มขันทีทั้งหลาย เหอไทเฮานิ่งเงียบ เหอจิ้นได้แต่ล่าถอย ขันทีจางรั่ง ขันทีต้วนกุยเห็นเหอจิ้นเข้าวังก็นึกระแวงอยู่แล้ว ส่งคนมาแอบฟังจนรู้ความ จางรั่งและพวกหลายสิบคนซุ่มอยู่นอกตำหนักเจียเต๋อ รอเหอจิ้นเข้าตำหนักมาก็เข้าไปรุมล้อมสังหารเหอจิ้น

อู๋ควางซึ่งเป็นแม่ทัพใต้สังกัดเหอจิ้นได้ทราบว่าเหอจิ้นถูกฆ่าตาย ก็ยกพบล้อมพระราชฐานชั้นในไว้ หยวนส้าวได้ฟังก็ส่งแม่ทัพหยวนซู่ (อ้วนสุด) น้องชายมาช่วยอู๋ควางบุกตีประตูพระราชวัง และร้องขอตัวจางรั่งและพวก กลุ่มขันทีรักษาวังไม่เคลื่อนไหวเป็นนาน หยวนซู่จึงจุดไฟนอกประตูชิงสั่ว ไฟโหมรุนแรงลุกโชน จางรั่งและพวกหวาดวิตก จึงไปทูลเหอไทเฮาว่าลูกน้องของแม่ทัพใหญ่เป็นกบฏวางเพลิงเผาพระราชวัง เหอไทเฮาไม่แจ้งว่าเหอจิ้นตายแล้ว ละล้าละลังไม่รู้จะทำเช่นใดดี จางรั่งและพวกจึงพาตัวเหอไทเฮา ฮั่นเส้าตี้และเฉินหลิวหวางหนีออกทางใต้ดินไปยังตำหนักเหนือ

หยวนส้าวนำกำลังบุกตีตำหนักเหนือ ปิดประตูใหญ่ แยกย้ายกันตามหาขันที พบคนหนึ่งก็ฆ่าคนหนึ่ง รวมแล้วฆ่าขันทีไปสามพันกว่าคน จางรั่งถูกเสนาบดีหลูจือขวางไว้ หลูจือช่วยเหอไทเฮาไว้ จางรั่งและพวกหนีออกประตูทิศเหนือ แต่หลูจื๋อตามไปถึงในยามราตรีและฆ่าจางรั่งทิ้ง หลูจื๋อพาตัวเส้าตี้กับเฉินหลิวหวางสองพี่น้องเดินทางฝ่าความมืด

กล่าวถึงต่งจั๋วตั้งพลอยู่ที่ศาลาซีหยาง ต่อมาหยวนส้าวเขียนจดหมายเร่งรัด จึงนำทัพมาถึงเสี่ยนหยางเยวี่ยน มองแต่ไกลเห็นไฟไหม้จากทางพระราชวัง คิดว่าคงมีเหตุการณ์คับขัน จึงเร่งเดินทัพเข้าเมืองหลวง บังเอิญพบกับเส้าตี้และคนท้งหลายที่เขาเป่ยหมางซาน ต่งจั๋วคำนับเส้าตี้ เส้าตี้เห็นต่งจั๋วก็นึกหวาดกลัว ขณะตื่นตระหนกกล่าววาจาติดๆ ขัดๆ ไม่เป็นความ ส่วนเฉินหลิวหวางหลิวเสียมีท่าทีไม่รีบร้อน ปลอบขวัญต่งจั๋วที่ยกทัพมาไกล แล้วเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ผิดพลาดตั้งแต่ต้นจนจบ ต่งจั๋วนึกอัศจรรย์ จึงตั้งใจว่าจะยกเฉินหลิวหวางเป็นฮ่องเต้แทน

หลังจากต่งจั๋วยกทัพเข้าเมืองหลวงก็ค่อยๆ ควบคุมสถานการณ์ได้ ใช้ให้คนร้องเรียนหลิวหงซึ่งมีตำแหน่งซือคง[5] จากนั้นตนเองก็เข้ารับตำแหน่งแทน ตั้งเฉินหลิวหวางวัยเก้าชันษาเป็นฮ่องเต้ ซึ่งต่อมาคือพระเจ้าฮั่นเซี่ยนตี้ (ฮั่นเหี้ยนเต้) ในประวัติศาสตร์ ถอดหลิวเปี้ยนลงมาเป็นหงหนงหวาง ย้ายเหอไทเฮาไปตำหนักหย่งอัน ต่อมาต่งจั๋วก็วางยาสังหารเหอไทเฮา

หลังจากต่งจั๋วตั้งเซี่ยนตี้แล้วก็ตั้งตัวเองเป็นเหมยโหว ต่อมาก็เลื่อนตำแหน่งเป็นอัครมหาเสนาบดี กุมอำนาจราชสำนัก ต่งจั๋วโลภมากและฝักใฝ่ในกามคุณ ปล่อยให้ทหารแย่งชิงของชาวบ้านและฉุดคร่าสตรีได้ตามอำเภอใจ ต่งจั๋วเองอยู่ในจวน ทุกครั้งที่มีทหารปล้นชิงฉุดคร่ากลับมา จะตรวจสอบเองก่อน หากได้ของล้ำค่าหรือสตรีงามก็จะเก็บไว้เอง จากนั้นก็แบ่งให้ทหารทั้งหลาย องค์หญิงและนางในที่อยู่ในวังหลวง หากต่งจั๋วพอใจก็มิอาจพ้นชะตากรรมเลวร้ายไปได้

พฤติกรรมชั่วช้าของต่งจั๋วทำให้คนทั้งหลายพากันโกรธแค้น ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นทั้งหลายพากันจัดตั้งกองกำลังยกมาปราบต่งจั๋ว เฉียวเม่าเจ้าเมืองตงจวิ้นอ้างคำสั่งลับสามมหามนตรี ส่งหนังสือไปยังหัวเมืองต่างๆ ประนามความชั่วต่างๆ ของต่งจั๋ว เรียกร้องให้กลุ่มอำนาจต่างๆ ยกพลมาปราบปราม หยวนส้าวเจ้าเมืองปั๋วไห่ยกพลขึ้นก่อน ไม่นานก็รวมกองกำลังได้สิบสี่สาย เนื่องจากหัวเมืองที่แข็งข้อเหล่านี้อยู่บริเวณกวานตง (ด้านตะวันออกของด่านถงกวาน) ประวัติศาสตร์จึงเรียกว่า “ทัพกวานตง” ทัพกวานตงพร้อมใจกันยกหยวนส้าวเป็นประมุขพันธมิตร ยกทัพล้อมนครลั่วหยางจากทางเหนือ ตะวันออก และตะวันตก

ต่งจั๋วตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปฉางอันเพื่อหนีทัพกวานตงเป็นการชั่วคราว ขุนนางทั้งบุ๋นและบู๊ต่างไม่เห็นด้วย  แต่ถูกต่งจั๋วบังคับจึงจำต้องเดินทางไปทางตะวันตก ราษฎรนับล้านคนต้องจากบ้านเกิด ระหกระเหินเดินทาง บ้างหนาวตาย บ้างหิวตาย เป็นจำนวนนับไม่ถ้วน ต่งจั๋วยังสั่งให้จุดไฟเผานครลั่วหยาง ในรัศมีสองร้อยลี้เหลือแต่ดินไหม้ ไม่มีแม้สุนัขและไก่รอดชีวิต

ทัพกวานตงต่างคนต่างคิดเพื่อตนเอง ไม่มีใครต้องการทำสงครามแตกหักกับต่งจั๋วอย่างแท้จริง ปีที่ 3 แห่งรัชศกชูผิง (ค.ศ.192)หวางอวิ่น (อ้องอุ้น) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นซือถู (เทียบได้กับสมุหนายก) วางอุบายใช้หลี่วปู้ (ลิโป้) บุตรบุญธรรมของต่งจั๋วสังหารต่งจั๋วได้ เซี่ยนตี้ตั้งหวางอวิ่นให้ควบเสนาบดี เลื่อนหลี่ว์ปู้เป็นแม่ทัพตำแหน่งเฟิ่นเวยเจียงจวิน บรรดาศักดิ์เป็นเวินโหว ทั้งสองร่วมกันบริหารแผ่นดิน

 

หลี่เจ๋ว์และกัวซื่อต่อสู้กันเอง

เวลานั้นราษฎรมีคำเล่าลือกันว่าราชสำนักเตรียมฆ่าชาวเหลียงโจวให้หมด[6] หลี่เจ๋ว์ (ลิฉุย) และกัวซื่อ(กุยกี) ผู้ใต้บังคับบัญชาเก่าของต่งจั๋วเป็นชาวเหลียงโจว ทั้งสองจึงส่งคนมานครฉางอันเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ หวางอวิ่นไม่เห็นชอบ หลี่เจ๋ว์กับกัวซื่อยิ่งหวาดกลัว ตั้งใจจะแยกย้ายกันหนีกลับบ้านเกิด เจี๋ยสวี (กาเซี่ยง) ซึ่งมีตำแหน่งเป็นแม่ทัพปราบอนารยชนเสนอว่า “หากทุกคนสลายทัพหนีไปทางตะวันออก ให้เป็นแค่กำนันคนเดียวก็จับพวกท่านไว้ได้ ไม่สู้รวมกันบุกตะวันตกเข้าตีฉางอัน แก้แค้นให้ท่านต่ง หากได้ชัยก็เท่ากับได้แผ่นดิน หากแพ้ค่อยหนีไปก็ไม่สาย! ” หลี่เจ๋ว์ได้ยินดังนั้นก็รีบบัญชาทัพเคลื่อนพลไปตะวันตกมุ่งสู่นครฉางอัน ระหว่างทางเก็บตกทหารที่แตกกระจัดกระจายจากทัพทั้งหลายมาตลอดทาง พอถึงฉางอันก็มีกำลังรวมแสนกว่านาย

หลี่เจ๋ว์กับกัวซื่อยกทัพล้อมนครฉางอันไว้ หลี่ว์ปู้ขึ้นกำแพงเมืองรักษาที่มั่น ตั้งประจันหน้ารบกันแปดวันไม่มีผู้ใดได้ชัย ลูกน้องของหลี่ว์ปู้ทรยศ แอบเปิดประตูเมือง ทำให้หลี่เจ๋ว์และพวกบุกเข้าในเมืองได้ เกิดจลาจลในนครฉางอัน หลี่ว์ปู้พยายามต่อสู้ แต่ทหารจากข้างนอกเข้ามามากขึ้นทุกที ในที่สุดก็รับมือไม่ไหว จำต้องแหวกวงล้อมนี้ไปถึงนอกประตูชิงสั่ว จะพาหวางอวิ่นหนีไปด้วยกัน หวางอวิ่นถอนใจยาวกล่าวว่า “ข้าปรารถนาจะเห็นบ้านเมืองรุ่งเรือง แว่นแคว้นมั่นคง หากไม่สามารถก็มีแต่ตาย บัดนี้ฝ่าบาทเยาว์วัย ได้อาศัยข้าช่วยค้ำชู จะให้หนีเอาตัวรอด ข้าไม่อาจหักใจจากไป วานท่านช่วยบอกขุนศึกกวานตงทั้งหลายให้ช่วยคลายวิกฤติแผ่นดินให้สงบ หากเป็นเช่นนี้ ข้าก็ตายตาหลับ! ” หลี่ว์ปู้พาไพร่พลไม่กี่ร้อยคนออกด่านอู่กวานไปพึ่งหยวนซู่

หลี่เจ๋ว์และพวกล้อมประตูวังไว้ หวางอวิ่นพาเซี่ยนตี้เสด็จขึ้นหอประตูเซวียนผิง มองลงไปจากบนกำแพงเมือง เห็นม้าและทหารมากมาย เซี่ยนตี้มิได้หวาดเกรงเพราะสภาพเบื้องหน้า ตรัสกับหลี่เจ๋ว์ด้วยพระสุรเสียงอันดังว่า “พวกท่านปล่อยทหารย่ำยีเมือง ต้องการอะไรกันแน่? ” หลี่เจ๋ว์เห็นเป็นเซี่ยนตี้ก็หมอบลงกับพื้นแล้วโขกศีรษะคำนับ ทูลตอบว่า “ต่งจั๋วจงรักภักดีกับฝ่าบาท แต่กลับถูกหลี่ว์ปู้สังหาร กระหม่อมทั้งหลายมาในวันนี้เพื่อล้างแค้นให้ต่งจั๋ว หากล้าเป็นกบฏไม่ ครั้นเสร็จเรื่องแล้ว จะไปขอรับโทษเองพระเจ้าข้า” เซี่ยนตี้ตรัสว่า “หลี่ว์ปู้หนีไปแล้ว ท่านทั้งหลายต้องการจับหลี่ว์ปู้ ก็จงไล่ตามไป เหตุใดจึงต้องล้อมพระราชวังไว้? ” หลี่เจ๋ว์ทูลตอบว่า “ซือถูหวางอวิ๋นสมคบกับหลี่ว์ปู้ ขอฝ่าบาทให้หวางอวิ่นออกมา เกล้ากระหม่อมจะถามให้รู้ชัด! ” หวางอวิ่นได้ฟังก็ลงจากหอกล่าวกับหลี่เจ๋ว์ว่า “หวางอวิ่นอยู่ที่นี่ พวกเจ้ามีอะไรจะพูด? ” หลี่เจ๋ว์และพวกประนามหวางอวิ่นว่า “ไท่ซือ[7]มีความผิดใด ท่านจึงฆ่าเขา!” หวางอวิ่นถลึงตา กล่าวด้วยเสียงโกรธเกรี้ยวว่า “ต่งจั๋วสมควรตาย ราษฎรชาวฉางอันได้ยินว่าต่งจั๋วตายแล้ว ไม่มีผู้ใดไม่ปรบมือร้องดีใจ พวกเจ้ามิได้ยินมาบ้างหรือ? ” หลี่เจ๋ว์แย้งว่า “ต่อให้ไท่ซือมีความผิด ก็ไม่เกี่ยวข้องกับพวกเรา เหตุใดจึงไม่ยอมยกเว้นโทษให้พวกเรา? ” หวางอวิ่นตวาดว่า “พวกเจ้าเป็นกบฏทำร้ายราษฎร จะว่าไม่มีความผิดได้อย่างไร? บัดนี้พวกเจ้านำทัพบุกเมืองหลวง หรือมิใช่ความผิดมหันต์? พวกเจ้ายังมีอะไรพูดอีก! ” หลี่เจ๋ว์และพวกไม่กล่าวโต้แย้งอีก แต่ให้คนไปจับตัวหวางอวิ่นมาแล้วฆ่าเสีย เซี่ยนตี้ตกอยู่ในมือหลี่เจ๋ว์กับกัวซื่อ หลี่เจ๋ว์เลื่อนตำแหน่งให้ตนเป็นแม่ทัพเชอจี้[8] และกัวซื่อเป็นแม่ทัพหลัง ทั้งสองร่วมกันบริหารแผ่นดิน

เพียงชั่วพริบตาก็ผ่านไปถึงสองปี พระเจ้าเซี่ยนตี้ประกอบพิธีเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ เปลี่ยนรัชศกเป็นซิงผิง ปีต่อมา (ค.ศ.195) หลี่เจ๋ว์กับกัวซื่อก็เกิดกินแหนงแคลงใจกันจนถึงขั้นยกทัพรบพุ่งกันเอง กัวซื่อคิดจะชิงตัวเซี่ยนตี้มาอยู่กับตนเพื่อชิงความมีเปรียบ ไม่คาดความรั่วไหล หลี่เจ๋ว์ชิงลงมือก่อน เขาส่งหลี่เสียนซึ่งเป็นบุตรของพี่ชายนำทัพหลายพันคนไปล้อมประตูวัง บังคับตัวเซี่ยนตี้ออกจากวัง หยางเปียวซึ่งดำรงตำแหน่งไท่เว่ยออกมาบอกหลี่เสียนว่า “แต่โบราณไม่เคยได้ยินว่าประมุของค์ใดจะย้ายไปประทับจวนขุนนาง ท่านทั้งหลายทำการใด ควรได้ใจคน เหตุใดจึงผลีผลามสะเพร่าถึงเพียงนี้! ” หลี่เสียนกล่าวเสียงดังว่า “แม่ทัพข้าเกรงกัวซื่อจะเข้าวังมาก่อกบฏ จึงส่งข้ามารับเสด็จ เชิญประทับหนีภัยก่อน ท่านกล้าขัดขวาง หรือท่านสมคบกับกัวซื่อ! ” หยางเปียวไม่กล่าววาจาอีก เข้าไปทูลเซี่ยนตี้ให้ทรงทราบ เซี่ยนตี้ก็ไร้ทางเลือก หลี่เสียนใช้รถม้าคันใหญ่สามคันเชิญเสด็จเซี่ยนตี้และฮองเฮาไปประทับยังค่ายของหลี่เจ๋ว์ จากนั้นก็นำทัพเข้าวังปล้นชิงตามอำเภอใจ กวาดเอาสมบัติล้ำค่าในวังไปในค่ายของหลี่เจ๋ว์ แล้วก็จุดไฟเผาพระราชวังจนหมดสิ้น

เซี่ยนตี้ประทับอยู่ในค่ายของหลี่เจ๋ว์ด้วยความหวาดวิตกไม่เปอันเสวยไม่อันบรรทมในที่สุดก็ตัดสินใจแก้ไขสถานการณ์ด้วยการส่งหยางเปียวและขุนนางใหญ่อื่นไปเจรจาสงบศึกที่ค่ายของกัวซื่อ กัวซื่อไม่เห็นชอบ ซ้ำกลับจับตัวหยางเปียวและพวกไว้ บังคับให้ร่วมกันโจมตีหลี่เจ๋ว์ หยางเปียวโกรธจัด กล่าวว่า “ขุนนางทั้งหลายแก่งแย่งกันเอง คนหนึ่งจับฮ่องเต้เป็นตัวประกัน อีกคนจับขุนนางใหญ่เป็นตัวประกัน แต่โบราณถึงปัจจุบันมีผู้ใดทำเช่นนี้บ้าง? ” กัวซื่อโกรธจนลุกขึ้นมาชักกระบี่ชี้หน้าหยางเปียว สีหน้าถมึงทึง หยางเปียวไม่มีท่าทีหวาดกลัว กล่าวอย่างไม่รีบไม่ร้อนกว่า “ในเมื่อท่านไม่คำนึงถึงบ้านเมือง ข้าจะกล้าหวังมีชีวิตอยู่อีกหรือ! ” หลังคนอื่นๆ ช่วยกันเกลี้ยกล่อม กัวซื่อจึงยอมรามือ แต่ก็ยังไม่ยอมปล่อยตัวขุนนางใหญ่ทั้งหลายกลับ หลี่เจ๋ว์เรียกระดมชาวหู[9]จำนวนหลายพันคน แจกทรัพย์สินให้และให้พวกเขาโจมตีกัวซื่อ กัวซื่อแอบติดสินบนแม่ทัพจางเปาซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาของหลี่เจ๋ว์ ให้จางเปาคอยประสานงานรับเมื่อยกทัพไปตีหลี่เจ๋ว์ มีการยิงธนูไปยังกระโจมที่เซี่ยนตี้ประทับ หลี่เจ๋ว์ถูกธนูที่หูซ้าย จางเปาจุดไฟเผาหลังกระโจม หลี่เจ๋ว์ตระหนกรีบย้ายเซี่ยนตี้ไปเป่ยอูแล้วส่งคนไปเฝ้าประตูไว้เนื่องจากขาดการติดต่อกับภายนอก จึงขาดเสบียงอาหาร ขุนนางทั้งหลายมีสีหน้าหิวโหย เซี่ยนตี้ขอข้าวสารห้าโต่ว[10]กับกระดูกวัวห้าชิ้นมาแบ่งแก่เหล่า0ขุนนาง หลี่เจ๋ว์พูดด้วยความโกรธว่า “ให้ข้าวพวกท่านกินทั้งเช้าเย็น จะเอาข้าวสารไปทำไม? ” แล้วก็ให้คนเอากระดูกวัวส่งกลิ่นเหม็นไปให้เพียงห้าชิ้น เซี่ยนตี้เห็นดังนั้นก็นึกกริ้ว จะไปต่อว่าหลี่เจ๋ว์ ขุนนางใกล้ชิดชื่อหยางฉีทูลว่า “หลี่เจ๋ว์เองก็รู้ว่าเรื่องที่ตนทำนั้นอกตัญญูชั่วช้า คิดจะเอาพระองค์เป็นตัวประกันไปถึงฉือหยาง ขอให้ฝ่าบาทสะกดกลั้นไว้ก่อน รอโอกาสเหมาะค่อยว่ากัน” เซี่ยนตี้ได้ฟังก็ก้มพระพักตร์ไม่ตรัสอะไร ได้แต่เช็ดน้ำพระเนตรไม่หยุด

เซี่ยนตี้ยังส่วงหวงฝู่ลี่ไปเกลี้ยกล่อมให้หลี่เจ๋ว์กับกัวซื่อสงบศึกกัน หวงฝู่ลี่ไปพบกัวซื่อก่อนและเกลี้ยกล่อมด้วยมธุรสวาจา กัวซื่อรับปากยอมสงบศึก แต่พอให้หาหลี่เจ๋ว์ หลี่เจ๋ว์กลับไม่ตกลง กล่าวว่า “ข้ามีความชอบในการปราบหลี่ว์ปู้ ช่วยบริหารแผ่นดินมาสี่ปี ไม่มีเรื่องร้ายใด ย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วแผ่นดิน! กัวซื่อเป็นแค่โจรขโมยม้า ไฉนจึงกล้าต่อกรกับข้า อย่าว่าแต่มันกล้าจับขุนนางเป็นตัวประกัน โทษร้ายแรงไม่อาจอภัยได้ ข้าต้องฆ่ามันให้ได้ ท่านก็เป็นชาวเหลียงโจว ท่านเห็นว่าปัญญาข้ากับลูกน้องเหนือกว่ากัวซื่อมากมิใช่หรือ? ” หวงฝู่ลี่เห็นหลี่เจ๋ว์ตอบมาดังนี้ก็ว่า “โบราณมีโฮ่วอี้ ถือตนว่าชำนาญการยิงธนู ท้ายสุดยังล่มสลาย ยุคใกล้มานี้มีท่านต่งเข้มแข็งเกรียงไกร ท้ายสุดสิ้นชีพและถูกประหารล้างโคตร เห็นได้ว่ามีความกล้าหาญแต่ไร้ปัญญา จะนำมาซึ่งความล่มจมในตอนท้าย บัดนี้ท่านแม่ทัพเป็นแม่ทัพผู้ใหญ่ ลูกหลานญาติวงศ์อยู่ในตำแหน่งสำคัญ ควรหรือจะทรยศพระคุณบ้านเมือง? อย่าว่าแต่กัวซื่อจับขุนนางเป็นตัวประกัน ท่านแม่ทัพก็กลับยึดพระองค์ฮ่องเต้ไว้ ผู้ใดโทษเบา ผู้ใดโทษหนัก ไม่ต้องกล่าวก็ชัดแจ้ง หากท่านแม่ทัพไม่รู้จักแก้ไข หากวันหน้าผู้คนเอาใจออกหาก ถึงเวลานั้นเสียใจก็สายเกิน” หลี่เจ๋ว์ไม่ยอมฟังคำเตือน กลับคิดฆ่าหวงฝู่ลี่

หยางเฟิงซึ่งอยู่ใต้บัญชาหลี่เจ๋ว์ไม่พอใจการกระทำของหลี่เจ๋ว์ วางอุบายกับซ่งกั่วว่าจะฆ่าหลี่เจ๋ว์และส่งเซี่ยนตี้กลับ ไม่คาดแผนการณ์รั่วไหล ซ่งกั่วถูกฆ่าตาย ส่วนหยางเฟิงหนีรอดไปได้ เวลานั้นพอดีจางจี้แม่ทัพปราบตะวันออกยกพลมาเมืองหลวง มาเข้าเฝ้าเซี่ยนตี้และขอให้เซี่ยนตี้มีพระราชโองการคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างทั้งสอง ทั้งทูลว่าตนเองยินดีตามเสด็จไปหงหนง เซี่ยนตี้ฟังก็ดีพระทัยและโปรดให้เป็นไปตามนั้น หลังผ่านการไกล่เกลี่ย หลี่เจ๋ว์กับกัวซื่อก็สงบศึกกัน กัวซื่อยอมปล่อยตัวขุนนาง ส่วนเซี่ยนตี้ก็เดินทางไปหงหนงโดยมีจางจี้อารักขา

หลี่เจ๋ว์ไม่ยินดีไปหงหนงจึงออกมารักษาฉือหยาง ส่วนกัวซื่อนำทัพตามเสด็จเซี่ยนตี้ไป เซี่ยนตี้ตั้งจางจี้เป็นแม่ทัพเพี่ยวจี้ กัวซื่อเป็นแม่ทัพเช่อจี้ หยางติ้งเป็นแม่ทัพหลัง หยางเฟิ่งเป็นแม่ทัพซิงอี้ ต่งเฉินเป็นแม่ทัพอันจี๋ ร่วมตามเสด็จไปหงหนงด้วยกัน กัวซื่อไม่ต้องการไปทางตะวันออก จึงทูลขอให้เซี่ยนตี้เปลี่ยนไปเกาหลิง พอเดินทางมาถึงซินเฟิง กัวซื่อก็คิดจะบีบบังคับเซี่ยนตี้กลับเมืองเหมย หยางติ้งกับต่งเฉิงนำกำลังเข้าขัดหวาง กัวซื่อคนน้อยกว่าสู้ไม่ได้จึงหนีไปภูเขาหนานซาน ไม่นาน ขบวนเสด็จก็มาถึงหฺวาอิน ต้วนเว่ยซึ่งเป็นแม่ทัพหนิงจี๋ออกจากค่ายมารับเสด็จ ทูลถวายอาหารและฉลองพระองค์แก่เซี่ยนตี้และฮองเฮา เชิญเซี่ยนตี้พักในค่ายทหารของตน แม่ทัพหลังหยางติ้งไม่ถูกกับต้วนเว่ย จึงร่วมกับต่งเฉิงและหยางเฟิ่งใส่ความต้วนเว่ยว่าสมคบกับกัวซื่อจะชิงตัวเซี่ยนตี้ไป เซี่ยนตี้เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง มิได้ตำหนิโทษต้วนเว่ย หยางติ้งกับหยางเฟิ่งนำทัพโจมตีต้วนเว่ย ต้วนเว่ยก็นำกำลังต่อต้าน ทั้งสองฝ่ายรบกันสิบกว่าวัน ไม่แพ้ไม่ชนะ ต้วนเว่ยยังคงถวายอาหารแก่เซี่ยนตี้และพวก พร้อมทั้งถวายหนังสือทูลว่าตนมิได้มีใจทรยศ เซี่ยนตี้ให้คนไกล่เกลี่ย ทั้งสองฝ่ายจึงเลิกรากัน

ไม่คาดคลื่นลูกหนึ่งยังไม่ทันสงบดี คลื่นอีกลูกก็โหมกระหน่ำ หลี่เจ๋ว์และกัวซื่อจับมือเป็นพันธมิตรกันใหม่แล้วยกทัพมาไล่ตามเซี่ยนตี้ หยางติ้งเกรงว่าจะรับศึกไม่ไหว จึงทิ้งเซี่ยนตี้หนีไปหลานเถียน ระหว่างทางกัวซื่อสกัดเอาไว้และตีทัพหยางติ้งแตกจนต้องหนีไปจิงโจว (เกงจิ๋ว) จางจี้มีใจเป็นอื่น ตั้งใจจะไปชิงตัวเซี่ยนตี้มาจากค่ายทหารของหยางเฟิ่ง แต่ความรั่วไหล หยางเฟิ่งกับต่งเฉิงคุ้มครองเซี่ยนตี้ไปหงหนงในคืนนั้น จางจี้ได้ทราบก็ไล่ตามแต่ตามไม่ทัน มาพบกับกัวซื่อและหลี่เจ๋ว์ จึงรวมกำลังกันไล่ตามเซี่ยนตี้ หยางเฟิ่งกับต่งเฉิงมีกำลังน้อยสู้ไม่ได้ ต้องทิ้งสมบัติต่างๆ เซี่ยนตี้กับไทเฮาแยกประทับราชรถองค์ละคัน ต่งเฉิงเสี่ยงชีวิตอารักขาจึงหนีรอดไปได้ เมื่อหนีมาถึงเขตเมืองเฉาหยางก็เป็นเวลาค่ำ ไม่มีที่พักแรม ได้แต่พักกลางทาง ข้างหยางเฟิ่งกับต่งเฉิงทางหนึ่งใช้อุบายยื้ดวลา แสร้งส่งคนไปเจรจาสงบศึกกับหลี่เจ๋ว์ อีกทางหนึ่งส่งคนไปเหอตงเพื่อขอกำลังเสริม พอกำลังเสริมมาถึง หยางเฟิ่งกับต่งเฉิงก็เอาชัยกองทัพของหลี่เจ๋ว์ได้และสังหารไพร่พลไปหลายพันนาย เซี่ยนตี้เดินทางต่อไปยังตะวันออก หลังไปได้หลายลี้ ก็เห็นฝุ่นคลีฟุ้งจากด้านหลัง ที่แท้หลี่เจ๋ว์สืบรู้ว่ากำลังเสริมจากเหอตงมีเพียงไม่กี่พันนาย ซ้ำเป็นทหารที่ไม่ได้มีการฝึกฝนอย่างดี จึงเปลี่ยนใจไล่ตามมาอีก หลี่เจ๋ว์ กัวซื่อ จางจี้แยกกระหนาบตีสามด้าน ทัพหยางเฉิงแตกกระจาย ขุนนางใหญ่ที่ตามเสด็จบาดเจ็บล้มตายกันมาก ต่งเฉิงอารักขาเซี่ยนตี้หนีไปได้ไม่กี่ลี้ ก็มีทหารไล่ตามมา มีคนทูลขอให้เซี่ยนตี้ทรงม้าหนีไป เซี่ยนตี้ตรัสสะอื้นว่า “ไม่ได้ดอก ขุนนางทั้งหลายมีความผิดใด ข้าไม่อาจทิ้งพวกเขาหนีไปได้” ต่งเฉิงและพวกรบพลางหนีพลาง พอค่ำก็มาถึงเขตส่านซี เวลานี้กำลังทหารที่ไล่ตามมาลดลงบ้าง ทหารทั้งหลายตั้งค่ายพักแรม การศึกคราวนี้เสียทหารไปเจ็ดแปดส่วน ทัพองครักษ์เหลือไม่ถึงร้อยนาย ต่อมาหลี่เจ๋ว์มาล้อมค่ายตะโกนร้อง คนทั้งหลายตระหนกเสียขวัญ หารือวิธีหลบหนี

มีคนเสนอให้ข้ามแม่น้ำฮวงโห กว่าจะหาเรือก็ได้สักลำก็ยากเย็น คนทั้งหลายพาเซี่ยนตี้เดินออกจากค่าย ฝูฮองเฮาพระเกศายุ่งเหยิง พระพักตร์ซูบซีด ตามเสด็จเซี่ยนตี้ ฝูหวาน[11]บิดาของฝูฮองเฮาพยุงฮองเฮาไว้มือหนึ่ง อีกมือหนีบแพรสิบพับ ต่งเฉิงได้เห็นก็ไม่พอใจ ให้คนไปแย่งมา มีคนหนึ่งถูกฆ่าตาย เลือดกระเซ็นไปถูกฉลองพระองค์ฝูฮองเฮา ฝูฮองเฮาตกพระทัยสั่นกลัว ยุดชายฉลองพระองค์เซี่ยนตี้ไว้แล้วกรรแสงขอให้ช่วย เซี่ยนตี้ออกประโอษฐ์ปราม การแย่งชิงจึงยุติลง พอถึงริมน้ำ เห็นอากาศหนาวจัด น้ำลงต่ำกว่าฝั่งหลายวา เซี่ยนตี้กับฝูฮองเฮาลงเรือไม่ได้ โชคดีในมือฝูหวานมีแพรเหลืออยู่บ้าง จึงเอาแพรห่อพระองค์เซี่ยนตี้ไว้ ให้คนสองคนช่วยกันยกขึ้นเรือ ฝูหวานแบกฮองเฮากระโดดขึ้นเรือไป คนที่เหลือบางคนบ้างก็หมอบกับพื้นแล้วค่อยๆ คลานลงไป บางคนก็กระโดดจากฝั่งลงไป หมวกกับผ้าผูกผมเสียหายหมด พอถึงริมน้ำ ทหารพากันกระโดดขึ้นเรือ คนที่ขึ้นเรือไม่ได้ก็ดึงเรือไว้ ต่งเฉิงเอาเกอ[12]ฟันมือคนเหล่านั้น คนที่ข้ามน้ำมาได้มีเพียงหยางเปียวและพวกไม่กี่สิบคน นางในและราษฎรที่ไม่สามารถขึ้นเรือได้ก็ถูกทหารปล้นชิง เอาเสื้อผ้าไปและจับตัดผม คนที่หนาวตายมีจำนวนนับไม่ถ้วน

หลี่เจ๋ว์ได้ทราบก็ส่งคนตามไล่ตี เห็นเซี่ยนตี้อยู่บนเรือก็ร้องว่า “พวกเจ้าจะเอาโอรสสวรรค์ไปหรือ! ” ต่งเฉิงเกรงพวกเขายิงธนูใส่จึงใช้ผ้าห่มกำบัง หลี่เจ๋ว์เก็บเอาข้าวของที่ถูกทิ้งบนฝั่งน้ำไปหมด ข้างเซี่ยนตี้และผู้ที่ตามเสด็จข้ามแม่น้ำฮวงโหไปได้ ก็เดินเท้าไปอีกหลายลี้จนมาถึงต้าหยาง เวลานั้นฟ้าสางแล้ว ต่งเฉิงกับหยางเฟิ่งไปเสาะแสวงหารถม้าแต่ก็ไม่ได้มา หากได้แต่รถเทียมวัว จึงเชิญเสด็จเซี่ยนตี้ขึ้นประทับ คนที่เหลือเดินเท้าตามมาจนถึงอันอี้ จางหยางเจ้าเมืองเหอเน่ย หวางอี้เจ้าเมืองเหอตงมารับเสด็จ เซี่ยนตี้ตั้งจางหยางเป็นแม่ทัพอันกว๋อ (แม่ทัพพิทักษ์แคว้น) หวางอี้เป็นโหว แม่ทัพนายกองทั้งหลายต่างขอเลื่อนตำแหน่ง ถึงขั้นที่ว่าตราสำหรับแกะสลักมีไม่พอใช้ ต้องเขียนตอกลิ่มบนก้อนหิน เซี่ยนตี้ประทับอยู่ในบ้านที่ใช้รั้วหนาม ปิดหน้าต่างไม่ได้ อาศัยกระท่อมหญ้าเป็นท้องพระโรง ทหารทั้งหลายมองจากนอกรั้ว เบียดเสียดกันหัวเราะขันกันเอง

หยางเฟิ่งและพวกเสนอให้ตั้งอันอี้เป็นเมืองหลวง หยางเปียวและพวกเสนอให้กลับนครลั่วหยาง ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ได้แต่พำนักที่อันอี้ก่อนแล้วค่อยหารือกันใหม่ ผ่านมาถึงต้นปีถัดมา เปลี่ยนรัชศกเป็นเจี้ยนอัน เดือน 7 ของปีนี้ เซี่ยนตี้เสด็จนิวัติลั่วหยาง พระราชวังยังสร้างไม่เสร็จ จึงต้องพักที่จวนของขันทีจ้าวจงไปก่อน ไม่นานก็ย้ายกลับตำหนักหยางอัน หลังจากเรียบร้อยดีก็ทรงปูนบำเหน็จขุนนางที่มีความชอบทั้งหลาย เพียงแต่นครลั่วหยางซึ่งเคยโอ่อ่าถูกต่งจั๋วเผาทำลาย ไม่สามารถซ่อมให้ดีได้ในระยะเวลาอันสั้น นอกจากตำหนักหยางอันแล้ว รอบๆ มีแต่กระเบื้องกองระเกะระกะ หนามหญ้ารกรุงรัง ขุนนางทั้งหลายไม่มีที่อาศัย ได้แต่พำนักอยู่ในกองซากปรักหักพัง ในเมืองไม่มีเสบียง เซี่ยนตี้ส่งคนไปขอยังหัวเมืองใกล้เคียงแต่ก็มิมีผู้ใดส่งมา ขุนนางนับตั้งแต่เสนาบดีลงมาต้องออกจากเมืองไปเก็บพืชป่ามายังท้องมิให้หิวโหย บางคนไม่รอดถึงกับล้มตายเพราะอดอาหาร

เฉาเชา “เชิดฮ่องเต้บัญชาท้าวพระยาหัวเมือง”

เฉาเชา (โจโฉ) ซึ่งขณะนั้นครองเมืองเหยี่ยนโจวได้ทราบก็ฉวยจังหวะนั้นเข้าเมืองลั่วหยาง รับตำแหน่งผู้ตรวจราชการควบเสนาบดี ให้ตนได้มีโอกาส “เชิดฮ่องเต้บัญชาท้าวพระยาหัวเมือง” เนื่องจากหยางเฟิ่งและพวกมีทหารอยู่ในลั่วหยาง เกรงว่าจะไม่ยอมตามเฉาเชา เฉาเชาจึงชิงหารือกับต่งเจาซึ่งเป็นขุนนางติดตามพระองค์ ต่งเจาเห็นว่าการย้ายเมืองหลวงไปสี่ว์ชาง (ฮูโต๋) เป็นเรื่องดี เฉาเชาจึงเข้าเฝ้ากราบทูลขอให้เซี่ยนตี้เสด็จไปประทับที่สี่ว์ชางเพื่อไม่ต้องเผชิญกับการขาดเสบียงอีก เซี่ยนตี้ไม่อาจไม่ยอมตาม ขุนนางทั้งหลายก็กลัวเฉาเชาจึงมิกล้ามีความเห็นเป็นอื่น หลังจากเฉาเชาไปถึงสี่ว์ชางก็สร้างพระราชวังและศาลบรรพจักรพรรดิ เซี่ยนตี้ตั้งเฉาเชาเป็นแม่ทัพใหญ่ บรรดาศักดิ์เป็นอู่ผิงโหว เซี่ยนตี้เพิ่งพ้นจากมือหลี่เจ๋ว์และกัวซื่อก็มาตกอยู่ในมือเฉาเชา ใช้ชีวิตในฐานะหุ่นเชิดต่อไป

หยางเปียวเห็นเฉาเชากุมอำนาจเบ็ดเสร็จก็ขอลาออกจากตำแหน่งไท่เว่ยและจากไป เฉาเชาตั้งต้นเป็นตำแหน่งซือคงอีกตำแหน่ง ควบคุมขุนนางต่างๆ เซี่ยนตี้ไม่ยินยอมเป็นหุ่นเชิด จึงเขียนพระราชโองการลับให้ต่งเฉิงนำออกไป ให้หลิวเป้ย(เล่าปี่) คอยช่วยอยู่ภายนอก ต่งเฉิงกับหวางฝูคอยรับอยู่ภายใน หาโอกาสฆ่าเฉาเชา ไหนเลยจะทราบความแตก เฉาเชาจับตัวต่งแงและพวกไปขังไว้ในคุก เฉาเชาถือกระบี่เดินเข้าวังมาด้วยความโกรธ ให้เซี่ยนตี้ส่งตัวพระสนมต่งบุตรีของต่งเฉิงซึ่งเป็นพระสนมตำแหน่งกุ้ยเหรินออกมา เซี่ยนตี้กำลังนั่งสนทนากับฝูฮองเฮา กล่าวถึงเรื่องเฉาเชายึดอำนาจ อดถอนใจกันมิได้ บัดดลนั้นเฉาเชาถือกระบี่พุ่งเข้ามา สีหน้าโกรธเกรี้ยว ทั้งสองต่างตกพระทัย เฉาเชาเอ่ยปากว่า “ต่งเฉิงคิดคดกล้าเป็นกบฏ ขอฝ่าบาทลงอาญาในทันใด” เซี่ยนตี้ตรัสว่า “ต่งเฉิงเป็นพระญาติฝ่ายในซ้ำมีความชอบ จะกล้าเป็นกบฏหรือ? ” โจโฉทูลว่า “กระหม่อมรับเสด็จพระองค์มาถึงตอนนี้ มิมีที่ใดผิดต่อฝ่าบาท ต่งเฉิงถือตนว่าเป็นพระญาติฝ่ายใน คิดสังหารกระหม่อม หากกระหม่อมตายไป เกรงจะเดือดร้อนถึงฝ่าบาท ยังมิใช่การกบฏดอกหรือพ่ะย่ะค่ะ? ” เซี่ยนตี้ตรัสถามว่า “มีหลักฐานแน่ชัดหรือไม่? ” เฉาเชาถลึงตลากล่าวเสียงโกรธแค้นว่า “หลักฐานแน่ชัด หาใช่กระหม่อมใส่ความไม่ ฝ่าบาทปกป้องต่งเฉิง หรือทรงสั่งให้มันฆ่ากระหม่อม? ” เดิมเซี่ยนตี้ก็มีราชโองการลับให้ต่งเฉิงอยู่แล้ว ใจอดนึกกลัวมิได้ ได้แต่ตรัสว่า “ต่งเฉิงมีความผิด ควรลงโทษตามกฏหมาย” เฉาเชากล่าวเสียงดังว่า “ยังมีบุตรีต่งเฉิงถวายการรับใช้อยู่ในวัง ต้องให้ลงโทษตกตายตามกันพ่ะย่ะค่ะ” กล่าวจบก็ให้องครักษ์ไปจับตัวต่งกุ้ยเหริน เซี่ยนตี้กรรแสงตรัสว่า “ต่งกุ้ยเหรินมีครรภ์อยู่หลายเดือนแล้ว รอให้นางคลอดก่อนค่อยลงอาญาเถิด” เฉาเชากล่าวด้วยความขุ่นเคืองว่า “กระหม่อมไม่สนว่านางจะคลอดแล้วหรือไม่ ต่อให้คลอดแล้ว ก็ต้องฆ่าให้ตายตกตามกัน มิให้ทิ้งพืชพันธุ์ไว้ล้างแค้นให้มารดาภายหลัง” เซี่ยนตี้ได้ฟังก็ตกพระทัยจนหลั่งพระเสโททั่วพระวรกาย ไม่อาจตรัสวาจาใด เฉาเชาสั่งให้องครักษ์ลากตัวต่งกุ้ยเหรินออกไป เซี่ยนตี้ร้อนพระทัยตรัสกับเฉาเชาว่า “ท่านเฉา หากท่านจะช่วยค้ำจุนข้า ก็อย่าได้ทำเกินไปนัก มิฉะนั้นไม่สู้ทิ้งข้าเสีย” เฉาเชาไม่ฟัง หันศีรษะเดินออกไปนอกวัง สั่งให้องครักษ์รัดคอต่งกุ้ยเหรินตาย ต่งเฉิง หวางฝูและพวกถูกประหารด้วยการตัดศีรษะประหารสามชั่วโคตร

ในปีนี้เอง (ปีที่ 5 แห่งรัชศกเจี้ยนอัน ค.ศ.200) กองทัพของเฉาเชากับหยวนส้าวรบพุ่งกันที่กวานตู้ เฉาเชาใช้กำลังน้อยกว่าเอาชัยหยวนส้าว ได้แผ่นดินภาคเหนือกว้างใหญ่ เป็นรากฐานให้กับการรวมภาคเหนือให้เป็นเอกภาพ นับจากนั้น เฉาเชาก็ค่อยๆ ทยอยยึดหัวเมืองภาคเหนือได้ พอถึงปีที่ 12 แห่งรัชศกเจี้ยนอัน เผ่าอูหวนยอมสวามิภักดิ์ ภาคเหนือเป็นเอกภาพ เดือน 6 ปีต่อมา เฉาเชายกเลิกตำแหน่งสามมหามนตรี ตั้งตำแหน่งเฉิงเซี่ยง (อัครมหาเสนาบดี) อี้ว์สื่อต้าฟู (มนตรีตรวจสอบ) เฉาเชารั้งตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี เดือน 7 เฉาเชายกทัพลงใต้ แพ้กองทัพรวมกำลังของซุนเฉวียน (ซุนกวน) กับหลิวเป้ยในยุทธนาวีที่ชื่อปี้ (เซ็กเพ็ก) แผ่นดินตกอยู่ในสภาพสามกลุ่มอำนาจประชันกัน ปีที่ 18 แห่งรัชศกเจี้ยนอัน เฉาเชาตั้งบรรดาศักดิ์ให้ตนเป็นเว่ยกง รับเครื่องยศเก้าประการอันเป็นชั้นสูงสุด

ย้อนไปถึงเหตุการณ์หลังจากต่งกุ้ยเหรินถูกเฉาเชาฆ่าตายฝูฮองเฮาก็ไม่สบายพระทัย เคยเขียนจดหมายหาฝูหวาน ประนามความชั่วของเฉาเชาและขอให้ฝูหวานหาทางกำจัดเฉาเชา แม้ฝูหวานจะเคยเป็นแม่ทัพ แต่นิสัยเรียบง่าย ไม่ยินดีจะแย่งอำนาจกับเฉาเชา หลังได้รับจดหมายก็มิได้กระทำการใด ตอนที่เฉาเชาตั้งตนเป็นเว่ยกง ฝูหวานก็ตายไปสามสี่ปีแล้ว เฉาเชามีบุตรีสามนางจึงถวายให้กับเซี่ยนตี้[13]ต่อมา เซี่ยนตี้ตั้งพวกนางเป็นพระสนมตำแหน่งกุ้ยเหริน พอถึงปีที่ 19 รัชศกเจี้ยนอัน (ค.ศ.214) มีคนรับใช้ตระกูลฝูผู้หนึ่งเอาจดหมายที่ฝูฮองเฮาเคยเขียนถึงฝูหวานไปให้เฉาเชา เฉาเชาโกรธมาก เข้าวังไปบังคับให้เซี่ยนตี้ถอดฮองเฮาออก เซี่ยนตี้ลังเลพระทัย ไม่อาจหักใจทำเช่นนั้น เฉาเชาไม่รอเซี่ยนตี้มีพระราชานุญาต ก็สั่งให้เสนาบดีหฺวาซินร่างราชโองการถอดฝูฮองเฮา และบังคับให้เซี่ยนตี้ประทับตราหยก ฝูฮองเฮาได้พระราชโองการ ขณะจะย้ายออกไปจากวังใน ก็ได้ยินเสียงคนอึกทึก ที่แท้หฺวาซินพาคนมาจับฮองเฮา ฝูฮองเฮาตระหนกจนรีบซ่อนตนไปในช่องกำแพงวัง แต่สุดท้ายก็ถูกหฺวาซินจับได้ หฺวาซินจิกพระเกศานางแล้วกระชากดึงไปยังตำหนักด้านนอก เซี่ยนตี้กำลังประทับอยู่กับซีลี่ว์ซึ่งเป็นมนตรีตรวจสอบ พอเห็นนางผมเผ้าสยาย เปลือยเท้าเปล่า สภาพน่าเวทนา ก็อดหลั่งน้ำพระเนตรไม่ได้ ฝูฮองเฮากรรแสงทูลเซี่ยนตี้ว่า “หม่อมฉันไม่อาจมีชีวิตรอดแล้วจริงๆ หรือเพคะ? ” เซี่ยนตี้ถอนพระทัยตอบว่า “ข้าก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะรอดได้ถึงวันไหน! ” ตรัสจบก็หันมาตรัสกลับซีลี่ว์ว่า “ท่านซี ใต้ฟ้ามีเรื่องเช่นนี้จริงหรือ? ” หฺวาซินไม่พูดพล่ามทำเพลง ลากตัวฝูฮองเฮาไปขังไว้ในคุก ท้ายสุดฝูฮองเฮาก็สิ้นพระชนม์ในคุกนั่นเอง พระโอรสที่ประสูติจากฝูฮองเฮาทั้งสองพระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยยาพิษ ตระกูลฝูถูกประหารไปร้อยกว่าคน เดือนอ้ายปีที่ 20 แห่งรัชศก เฉาเชาตั้งเฉาเจี๋ยบุตรีคนรองของตนเป็นฮองเฮาในพระเจ้าฮั่นเซี่ยนตี้

 

เฉาพีแย่งบัลลังก์ฮั่น

ปีที่ 25 แห่งรัชศกเจี้ยนอัน (ค.ศ.220) เฉาเชาซึ่งต่อมาตั้งตนเป็นเว่ยหวางหรืออ๋องแห่งแคว้นเว่ยป่วยตาย เฉาพีบุตรชายสืบบรรดาศักดิ์ต่อเป็นเว่ยหวาง เซี่ยนตี้นึกว่าหลังเฉาเชาตายแล้วตนเองจะได้บริหารราชกิจ เปลี่ยนปีที่ 25 แห่งรัชศกเจี้ยนอันเป็นปีที่ 1 แห่งรัชศกเหยียนคัง ไหนเลยจะทราบว่าเฉาผีร้ายกาจกว่าบิดา เฉาพีเห็นว่าเป็นเวลาเหมาะที่จะแย่งบัลลังก์ฮั่นแล้ว จึงให้คนไปสร้างเหตุการณ์มงคลต่างๆ มา เพื่อบอกว่าชะตาราชวงศ์ฮั่นสิ้นสูญแล้ว ราชวงศ์เว่ยจะมาแทนที่ เฉาพียังสั่งให้หฺวาซินและพวกไปที่นครสี่ว์ตูและบังคับให้เซี่ยนตี้สละราชย์ เซี่ยนตี้ตื่นตระหนกน้ำพระเนตรไหล ขณะกำลังลังเลก็ได้เห็นทหารแต่งตัวพร้อมรบกรูมาจากข้างนอก เซี่ยนตี้รีบลุกขึ้นหันกายจะหนีไปยังตำหนักด้านใน หฺวาซินก็ไล่ตามไป พอถึงตำหนักฮองเฮา เฉาฮองเฮาได้ยินเสียงก็ออกมา เห็นเซี่ยนตี้ลุกลี้ลุกลนก็ถามว่าเกิดเรื่องใดขึ้น เซี่ยนตี้กรรแสงแล้วตรัสว่า “พี่ชายเจ้าจะแย่งบัลลังก์ข้า” เฉาฮองเฮาได้ฟังก็ขมวดคิ้ว อ้อมพระองค์เซี่ยนตี้ ขวางหฺวาซินและพวกไว้ บริภาษว่า “พวกเจ้าหวังได้ดีมียศศักดิ์ กล้าเป็นกบฏ ลองคิดดูบิดาข้ามีความชอบสูงส่ง ยังรับใช้ราชวงศ์ฮั่นในฐานะขุนนาง พี่ชายข้าเพิ่งเป็นเว่ยหวางได้ไม่กี่วันก็คิดชิงบัลลังก์ เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ พวกเจ้าต้องเป็นคนยุแยงแน่! ” เนื่องจากเฉาฮองเฮาเป็นน้องสาวของเฉาพี หฺวาซินไม่กล้าทำอะไรนาง จึงได้แต่ถอยจากไปก่อน

ผ่านไปหลายวัน ได้ยินว่าเฉาพีจะมาถึงนครสี่ว์ตูแล้ว หฺวาซินและพวกก็ประชุมขุนนาง ขอให้เซี่ยนตี้ออกมา เซี่ยนตี้ถูกบังคับจึงจำต้องเสด็จออก หฺวาซินนำพระราชโองการสละราชย์ที่ร่างไว้แล้วมาบังคับให้เซี่ยนตี้ประกาศ เซี่ยนตี้รับปากคลุมเครือ ส่งมนตรีตรวจสอบจางอินนำราชโองการไปให้ให้เฉาพี ขณะนั้นเฉาพีอยู่ที่ชีว์หลี พอได้ราชโองการก็ดีใจ แต่เปลือกนอกแสร้งทำเป็นไม่ยอมรับ มีหนังสือทูลปฏิเสธกลับ จางอินกลับมารายงาน หฺวาซินรีบทำหนังสือไปขอให้เฉาพีเสวยราชย์ ทางหนึ่งก็บังคับให้เซี่ยนตี้มอบตราแผ่นดินออกมา เซี่ยนตี้หลั่งน้ำพระเนตรตรัสว่า “ตราหยกอยู่ที่ฮองเฮา ไม่ได้อยู่กับข้า” หฺวาซินไปขอตราหยกจากเฉาฮองเฮา แต่เฉาฮองเฮาไม่ยอมให้ หฺวาซินรายงานเรื่องนี้ให้เฉาพีทราบ เฉาพีจึงส่งเฉาหงกับเฉาซิวนำกำลังเข้าวังมาชิงตราหยก เฉาฮองเฮาโยนตราหยกไปนอกหน้าต่าง กันแสงแล้วตรัสว่า “สวรรค์จะไม่ปกป้องท่านอีก!” เฉาหงได้ตราหยก ก็ส่งจางชิงนำตราหยกพร้อมด้วยพระราชโองการฉบับที่สองไปให้เฉาพี เฉาพีได้รับตราหยกกับพระราชโองการ ก็ยังไม่ยอมรับอีก สั่งให้จางอินนำตราหยกกลับมา เซี่ยนตี้จำต้องมีพระราชโองการเป็นฉบับที่สาม คราวนี้เฉาพีจึงยอมรับปากครองบัลลังก์ เดือน 10 ปีเดียวกันนั้น เฉาพีประกอบพิธีรับพระราชบัลลังก์ ณ ศาลาฝานหยาง รับตราแผ่นดิน ขุนนางทั้งบุ๋นและบู๊ร่วมกันถวายพระพร จากนั้นก็เสด็จประทับนครสี่ว์ตู เปลี่ยนปีที่ 1 แห่งรัชศกเจี้ยนคังเป็นปีที่ 1 แห่งรัชศกหวงชู เปลี่ยนนามแผ่นดินเป็นเว่ย ถอดพระเจ้าฮั่นเซี่ยนตี้เป็นซานหยางกงเฉาฮองเฮาเป็นซานหยางกงฟูเหริน (ฮูหยิน) ให้ย้ายออกจากวังไป แต่ยังอนุญาตให้ใช้พิธีและดนตรีตามธรรมเนียมโอรสสวรรค์ ถือว่าปฏิบัติต่อเซี่ยนตี้อย่างดี

สิบสี่ปีให้หลัง คือปีที่ 2 แห่งรัชศกชิงหลง (ค.ศ.234) ราชวงศ์เว่ย เซี่ยนตี้สวรรคต พระชนมพรรษาห้าสิบสี่พรรษา ฝังที่สุสานซ่านหลิงด้วยธรรมเนียมโอรสสวรรค์ราชวงศ์ฮั่น ถวายพระนามหลังสวรรคตเป็นเซี่ยวเซี่ยนหวงตี้[14]

ปลายราชวงศ์ฮั่น หลังผ่านกบฏโจรโพกผ้าเหลือง อำนาจส่วนกลางอ่อนแรงลงมาก ผู้มีอิทธิพลในแต่ละท้องที่ต่างมีกองกำลังของตน เกิดภาวะจลาจลรบพุ่งชิงแผ่นดิน ค.ศ.189 ฮั่นเซี่ยนตี้หลิวเสียได้รับการแต่งตั้งจากต่งจั๋วเป็นฮ่องเต้ในวัยเก้าพรรษา ค.ศ.220 ถูกเฉาพีถอดออก อยู่ในราชสมบัติสามสิบกว่าปี ตลอดระยะเวลาสามสิบกว่าปีนี้ เซี่ยนตี้เป็นฮ่องเต้แต่เพียงในนาม เป็นเพียงป้ายแผ่นหนึ่งที่บรรดาขุนศึกทั้งหลายใช้เป็นทุนทางการเมืองในยุคจลาจล เป็นเพียงฮ่องเต้หุ่นเชิดอย่างแท้จริง เมื่อแรกเสวยราชย์ ต่งจั๋วกุมอำนาจแผ่นดิน หลังจากต่งจั๋วตาย หลี่เจ๋ว์กับกัวซื่อแก่งแย่งกันเอง เซี่ยนตี้กลายเป็นเสมือนสมบัติที่แย่งชิงกันไปมาในระหว่างสงคราม พอหนีกลับมาลั่วหยางก็มาตกอยู่ในมือเฉาเชาอีก กลายเป็นเครื่องมือให้เฉาเชา “เชิดฮ่องเต้บัญชาท้าวพระยาหัวเมือง” หลังเฉาเชาตาย เซี่ยนตี้นึกว่าจะได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก แต่กลับถูกเฉาพีบีบบังคับให้สละราชย์ แต่อันที่จริงเซี่ยนตี้มิใช่คนโง่เขลาไร้สามารถ ตัวอย่างปีที่ 1 แห่งรัชศกซิงผิง เขตซานฝูฝนไม่ตกอยู่หลายเดือน ข้าวสารหนึ่งหู[15]ราคาสูงถึงห้าแสนอีแปะเซี่ยนตี้ให้สื่อโหวเหวินซึ่งเป็นคนสนิทเอาข้าวและถั่วเหลืองจากคลังหลวงไปต้มโจ๊กแจกราษฎรยากไร้ แต่ก็ยังมีคนอดตายอยู่มาก เซี่ยนตี้สงสัยว่าจะมีนอกใน จึงให้คนเอาข้าวกับถั่วเหลืองจำนวนห้าเซิงออกมาต้มโจ๊กให้ดู ปรากฏว่าได้เพียงสองอ่าง เซี่ยนตี้จึงให้โบยสื่อโหวเหวินด้วยพลองห้าสิบที ในพงศาวดารโฮ่วฮั่นซู บรรพที่ว่าด้วยพระราชประวัติเซี่ยวเซี่ยนตี้เขียนว่า “เซี่ยนตี้ประสูติผิดยุคพระองค์ระหกระเหินบ้านเมืองทุกข์เข็ญ” เห็นว่าเซี่ยนตี้เกิดมาผิดกาล ตนเองต้องเร่ร่อนย้ายไปมา บ้านเมืองก็มีแต่ทุกข์เข็ญไม่หยุดไม่หย่อน วาจานี้มีเหตุผล ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น เซี่ยนตี้เองยังยากจะกุมชะตาพระองค์เองได้ จะเอ่ยถึงการบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างไร?

 

[1]ชื่อบุคคลและสถานที่ในหนังสือฉบับนี้ถอดตามเสียงจีนกลาง สำหรับชื่อที่ปรากฏในนิยายอิงพงศาวดารเรื่องสามก๊ก จะวงเล็บสำเนียงฮกเกี้ยนตามที่ปรากฏในสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ไว้หลังชื่อ โดยระบุไว้เฉพาะครั้งแรกที่เอ่ยถึงชื่อนั้นๆ

[2]สามก๊กไทยเรียกหองจูเปียน หองจูเป็นภาษาฮกเกี้ยน ภาษาจีนกลางคือหวงจื่อ แปลว่าพระโอรส เปียนเป็นภาษาฮกเกี้ยน เปี้ยนเป็นภาษาจีนกลาง

[3]ฮั่นหลิงตี้ต้องการทอนอำนาจการทหารของแม่ทัพใหญ่เหอจิ้น จึงตั้งกองกำลังทหารส่วนพระองค์ขึ้น เซี่ยวเว่ยเป็นตำแหน่งผู้บังคับกอง มีทั้งสิ้นแปดคนรวมเรียกว่าแปดเซี่ยวเว่ยแห่งสวนตะวันตก ซ่างจวินเซี่ยวเว่ยเป็นหัวหน้าผู้บังคับกองทหารทั้งหมด คนสำคัญในเรื่องสามก๊กที่อยู่ในเซี่ยวเว่ยทั้งแปดนี้ยังมีหยวนส้าว (อ้วนเสี้ยว) และเฉาเชา (โจโฉ)

[4]พระนางต่งเป็นพระมารดาของฮั่นหลิงตี้เป็นภรรยาของเจี๋ยตู๋ถิงโหวหลิวฉาง เจี๋ยตู๋ถิงเป็นเมืองส่วยขนาดเล็ก ก่อนที่พระเจ้าฮั่นหลิงตี้หลิวหงจะได้เสวยราชย์ ได้สืบบรรดาศักดิ์เป็นต่อจากบิดา ต่อมาพระเจ้าฮั่นหวนตี้สวรรคตโดยไม่มีรัชทายาท หลิวหงซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานลุงได้ขึ้นครองราชย์ต่อ หลิวหงยกมารดาคือนางต่งเป็นไทเฮา

[5]ตำแหน่งขุนนางในแต่ละสมัยไม่เหมือนกัน สำหรับในสมัยฮั่นตะวันออก สามมหามนตรีประกอบด้วยซือถู ไท่เว่ย ซือคง ซือถูกำกับจารีตประเพณี การศึกษา กฎหมาย การต่างประเทศ   ไท่เว่ยกำกับการทหาร ซือคงกำกับการก่อสร้าง เศรษฐกิจ การเพาะปลูก การประมง

[6]ต่งจั๋วเป็นชาวเหลียงโจว

[7]หมายถึงต่งจั๋ว ต่งจั๋วตั้งตัวเองเป็นเซี่ยงกว๋อ (อัครมหาเสนาบดี) บรรดาศักดิ์เป็นเหมยโหว แล้วยังตั้งตัวเองเป็นไท่ซือเป็นตำแหน่งเสริมให้ตนเองอีก

[8]แม่ทัพเชอจี้เป็นตำแหน่งการทหารชั้นสูงรองจากแม่ทัพใหญ่และแม่ทัพเพี่ยวจี่ สูงกว่าแม่ทัพเว่ย แม่ทัพหน้า แม่ทัพซ้าย แม่ทัพขวา แม่ทัพหลัง

[9]เผ่าอนารยชนทางเหนือของจีน

[10]1 โต่วคือ 10 ลิตร

[11]ต้นฉบับเขียนว่าฝูหวานเป็นพี่ชายของฮองเฮา ผู้แปลสอบทานกับพงศาวดารโฮ่วฮั่นซู บรรพพระประวัติฮองเฮาแล้วแก้ไขเป็นบิดาตามบันทึกประวัติศาสตร์

[12]เกอเป็นอาวุธโบราณ ด้ามทำจากไม้ ปลายเป็นโลหะมีคมเหมือนปากไก่ยื่นออกไป ส่วนปลายใช้จิกทำลาย ส่วนคมด้านในใช้ตวัดตัดได้

[13]บุตรีทั้งสามของโจโฉคือเฉาเซี่ยน เฉาเจี๋ยและเฉาหฺวา คนเล็กอายุยังน้อย จึงส่งคนโตและคนรองเข้ามาก่อน ต่อมาจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นกุ้ยเหรินพร้อมกันทั้งสามคน หลังฝูฮองเฮาสวรรคต เฉาเชาให้ตั้งเฉาเจี๋ยเป็นฮองเฮาแทน ต้นฉบับเขียนว่าเฉาเจี๋ยเป็นบุตรีคนที่สาม ฉบับแปลแก้ไขเป็นคนรองตามจดหมายเหตุสามก๊ก

[14]เซี่ยวคือกตัญญูราชวงศ์ฮั่นยกย่องคุณธรรมกตัญญู ส่วนเซี่ยนนี้ โดยทั่วไปมักอธิบายว่าหมายถึงยกให้ ถวายให้ หมายถึงการที่ฮั่นเซี่ยนตี้ต้องยกบัลลังก์ให้ราชวงศ์เว่ย แต่ก็มีผู้ตีความต่างกันว่าเซี่ยนมีอีกความหมายคือ “เสียน” ซึ่งแปลว่าประเสริฐ หมายถึงมีคุณธรรมและความสามารถ

[15]หูเป็นหน่วยชั่งตวงวัดโบราณ เดิมหนึ่งหูเท่ากับหนึ่งตั้น หนึ่งตั้นหรือหนึ่งหูเท่ากับสิบโต่ว คือหนึ่งร้อยยี่สิบจิน ตั้งแต่ราชวงศ์ซ่ง เปลี่ยนให้หนึ่งหูเป็นห้าโต่ว หนึ่งตั้นเท่ากับสองหู

ฮ่องเต้ผู้ประสูติผิดยุค..พระเจ้าฮั่นเซี่ยนตี้แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออกหลิวเสีย

ฮั่นเซี่ยนตี้  (เหี้ยนเต้[1])ชื่อรองว่าปั๋วเหอ เป็นพระโอรสองค์รองในฮั่นหลิงตี้ เป็นพระอนุชาต่างมารดากับฮั่นเส้าตี้ ในปีที่ 6 รัชศกจงผิง (ค.ศ.189) อันเป็นรัชศกของฮั่นหลิงตี้ ฮั่นเซี่ยนตี้ขึ้นครองราชย์ ปีที่ 1 แห่งรัชศกเหยียนคัง (ค.ศ.220) ประกอบพิธียกราชบัลลังก์ให้เว่ยเหวินตี้เฉาพี  (โจผี)ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์เว่ย ฮั่นเซี่ยนตี้เป็นฮ่องเต้องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ตลอดเวลาที่อยู่ในราชบัลลังก์ ชีวิตของพระองค์เต็มไปด้วยความเป็นโศกนาฏกรรม

 

ตั้งองค์ใหญ่หรือองค์เล็ก

ฮั่นเซี่ยนตี้หลิวเสีย  (เล่าเหียบ)เป็นพระโอรสองค์ที่สองในฮั่นหลิงตี้  (เลนเต้) ประสูติในปีที่ 4 แห่งรัชศกกวางเหอ (ค.ศ.181) มีพระชะตาลำบากมาตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ หลังจากหลิงตี้ถอดซ่งฮองเฮาลงได้สองปีก็ตั้งนางเหอซึ่งเป็นสนมตำแหน่งกุ้ยเหรินขึ้นเป็นฮองเฮา เหอฮองเฮาชาติกำเนิดต่ำต้อย เป็นบุตรีคนฆ่าสัตว์ บิดาชื่อเหอเจินตั้งถิ่นฐานอยู่ที่หนานหยาง หลังทำการค้าร่ำรวยขึ้นก็อยากคบหากับผู้มีอำนาจอิทธิพลเพื่อยกสถานภาพของตน ประจวบเหมาะมีการคัดนางใน เหอเจินติดสินบนขันทีจนบุตรีได้รับการคัดเลือกเข้าวัง นางเหอรูปโฉมงดงาม ฮั่นหลิงตี้ซึ่งใฝ่พระทัยในอิสตรีมีใจโปรดปราน ต่อมานางเหอให้กำเนิดพระโอรสหลิวเปี้ยน[2]นางต้องการให้พระโอรสเติบโตอย่างปลอดภัย จึงไปฝากบ้านสื่อเต้าเหรินเลี้ยงไว้ หลังให้กำเนิดพระโอรส นางเหอได้รับการแต่งตั้งเป็นสนมตำแหน่งกุ้ยเหริน ต่อมาก็ได้รับการสถาปนาเป็นฮองเฮา เหอจิ้น  (โฮจิ๋น) ซึ่งเป็นพี่ชายก็ได้ตำแหน่งขุนนางใหญ่เข้านอกออกในพระราชวังได้

เหอฮองเฮานิสัยขี้ระแวง คอยระวังป้องกันมิให้ผู้ใดมาแย่งตำแหน่งตนไปได้ นางหวางมารดาของหลิวเสียเป็นพระสนมตำแหน่งเหม่ยเหริน ชาติตระกูลสูง เป็นหลานสาวของแม่ทัพหวางเปา ตอนหวางเหม่ยเหรินตั้งครรภ์ เหอฮองเฮาล่วงรู้ก็พยายามหาทางฆ่าเสีย หวางเหม่ยเหรินแอบกินยาทำแท้ง แต่ยาไม่ได้ผล ท้ายสุดก็คลอดพระโอรส เดิมหลิงตี้ไม่ทรงทราบ พอทราบว่าหวางเหม่ยเหรินให้กำเนิดพระโอรสก็ดีพระทัย ตั้งชื่อว่าหลิวเสีย หลังคลอด หวางเหม่ยเหรินต้องกินยาบำรุง เหอฮองเฮาให้คนใส่ยาพิษไว้ในยาบำรุงนั้น หวางเหม่ยเหรินดื่มยาก็สิ้นใจ หลิงตี้ได้ข่าวก็ไปดูศพ เห็นแขนขานางเป็นสีเขียวคล้ำก็รู้ว่าตายเพราะถูกยาพิษ จึงให้คนสืบหาผู้วางยา พอรู้ว่าเป็นฝีมือเหอฮองเฮาก็กริ้วจัด ตั้งพระทัยจะถอดเหอฮองเฮาออกจากตำแหน่งพระมเหสี เหอฮองเฮาหวั่นวิตก จึงติดสินบนขันทีเฉาเจี๋ย ขันทีจางรั่งและพวก ขอให้พวกเขาช่วยทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้ หลิงตี้ยอมเว้นโทษให้ แต่เกรงหลิวเสียจะประสบเคราะห์กรรม จึงให้นำตัวหลิวเสียไปให้ต่งไทเฮาซึ่งอยู่ที่ตำหนักหย่งเล่อกงเลี้ยงดู

เมื่อถึงบั้นปลายพระชนมชีพ หลิงตี้ต้องทรงเผชิญกับปัญหาผู้สืบทอดบัลลังก์ พระโอรสองค์ใหญ่หลิวเปียนซึ่งประสูติจากเหอฮองเฮา กิริยาไม่สำรวม ไม่สง่างามควรแก่การเป็นฮ่องเต้ หลิงตี้ไม่โปรดปราน ครั้นจะตั้งหลิวเสียซึ่งเป็นพระโอรสองค์เล็กก็กลัวเหอฮองเฮากับเหอจิ้นไม่เห็นด้วย จึงรีรอไม่ตัดสินพระทัย เดือน 4 ปีที่ 6 แห่งรัชศกจงผิง (ค.ศ.189) หลิงตี้ประชวรหนัก ทราบพระองค์ว่าจะลากโลกไปในไม่ช้า จึงปรึกษากับเจี่ยนซั่ว (เกียนสิด) ขันทีคนโปรดซึ่งดำรงตำแหน่งซ่างจวินเซี่ยวเว่ย[3] ให้เจี่ยนซั่วช่วยหนุนหลิวเสียเป็นฮ่องเต้ ไม่นาน หลิงตี้ก็ประชวรสวรรคต เจี่ยนซั่วไม่ประกาศข่าวสวรรคต ปลอมราชโองการเรียกแม่ทัพใหญ่เหอจิ้นมารับคำสั่ง เหอจิ้นรับพระราชโอการก็รีบเข้าวัง พอมาถึงประตูวังก็ได้พบกับพานอิ่นซึ่งรับราชการอยู่กับเจี่ยนซั่ว พานอิ่นกับเหอจิ้นเป็นสหายกันมานาน จึงรีบทำมือบอกใบ้เหอจิ้นให้รู้ตัว ไม่ให้เขาเข้าไปในวัง เหอจิ้นรีบล่าถอยกลับไปในค่ายทหาร แผนการของเจี่ยนซั่วไม่บรรลุผล จำต้องตั้งพระโอรสหลิวเปี้ยนเป็นฮ่องเต้ ประวัติศาสตร์เรียกพระเจ้าฮั่นเส้าตี้ เหอฮองเฮาเป็นเหอไทเฮา ขณะนั้นหลิวเปี้ยนทรงพระชนม์สิบสี่พรรษา ยังว่าราชการเองไม่ได้ เหอไทเฮาจึงว่าราชการแทน

การเข่นฆ่าระหว่างพระญาติฝ่ายในกับขันที

หลังจากเหอจิ้นได้กุมอำนาจ ก็วางแผนสังหารเจี่ยนซั่วเพื่อล้างแค้น ไม่เพียงเท่านั้น ยังจะฉวยโอกาสนี้กวาดล้างกลุ่มขันทีให้สิ้นซาก เวลานั้นหยวนส้าว (อ้วนเสี้ยว) ซึ่งเป็นจั่วจวินเซี่ยวเว่ยกลับมาเมืองหลวง จึงมาร่วมวางแผนกับเหอจิ้นเพื่อกำจัดกลุ่มขันที ทางฝ่ายเจี่ยนซั่วก็เตรียมการโต้กลับอย่างเต็มที่ ให้เขียนจดหมายลับไปหาขันทีจ้าวจงและขันทีซ่งเตี่ยน โดยให้ขันทีกัวเซิ่งไปส่ง กัวเซิ่งเป็นคนบ้านเดียวกันกับเหอจิ้น ปรกติมีความสัมพันธ์กันดี  จึงเอาจดหมายลับของเจี่ยนซั่วไปให้เหอจิ้น พอเหอจิ้นได้อ่านก็ตกใจ เนื้อความเขียนว่าแม่ทัพใหญ่เหอจิ้นกุมอำนาจ หมายจะรวมหัวกับพวกพ้องสังหารคนสนิทของฮ่องเต้ผู้สวรรคตและเหล่าขันที แต่เกรงด้วยเจี่ยนซั่วคุมทหารส่วนพระองค์อยู่ จึงยังไม่กล้าขยับ ขอเชิญท่านทั้งหลายร่วมกันหาทางจับเหอจิ้นมาฆ่าเสีย

เหอจิ้นใช้อุบายของกัวเซิ่ง ตัดสินใจชิงลงมือก่อน ให้คนลวงเจี่ยนซั่วเข้าวังแล้วจับตัวฆ่าเสียในทันที จากนั้นก็ประกาศโทษผิดของเจี่ยนซั่ว ไม่เอาผิดคนอื่น กองทหารส่วนพระองค์ที่เจี่ยนซั่วกำกับอยู่ให้ขึ้นกับเหอจิ้นทั้งหมด

หลังสังหารเจี่ยนซั่ว ความสัมพันธ์ของเหอจิ้นกับต่งจ้งก็ตึงเครียดขึ้น ต่งจ้งมีตำแหน่งเป็นแม่ทัพ เป็นบุตรของต่งฉงพี่ชายพระนางต่งพระมารดาของหลิงตี้ ซึ่งตอนนี้เป็นพระอัยยิกาต่งต่งจ้งมีอำนาจใกล้เคียงกับเหอจิ้น ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ลงให้กัน พระอัยยิกาต่งเป็นผู้เลี้ยงดูหลิวเสียมา รักโปรดปรานหลิวเสียมาก เคยวางแผนกับต่งจ้งว่าจะเกลี้ยกล่อมให้หลิงตี้ตั้งหลิวเสียเป็นรัชทายาท จะได้ทำให้ตนมีอำนาจมั่นคง หลิงตี้รู้สึกลำบากใจ ยืดเวลาอยู่หลายปี ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น หลังจากเหอไทเฮาว่าราชการ เหอจิ้นกุมอำนาจใหญ่ ก็คอยระวังป้องกันมิให้ตระกูลต่งได้กลับมามีอำนาจและเกี่ยวข้องกับราชกิจอีก จึงหาวิธีต่างๆ นานาในการกำราบตระกูลต่ง พระอัยยิกาต่งไม่พอพระทัย ระหว่างสนทนา เคยบริภาษเหอไทเฮาว่า “นางถือดีว่าพี่ชายเป็นแม่ทัพใหญ่ จึงกล้าวางอำนาจบาตรใหญ่ ไม่เห็นใครในสายตา หากข้าให้แม่ทัพต่งเด็ดหัวเหอจิ้น ก็ง่ายราวพลิกฝ่ามือ ดูสิถึงวันนั้นนางจะทำอย่างไร? ” วาจานี้ล่วงรู้ถึงเหอไทเฮาซึ่งก็ไม่ใช่คนที่จะยอมใครง่ายๆ พระนางรีบเรียกตัวเหอจิ้นเข้ามาหารือในวัง สั่งให้เหอจิ้นกำจัดพระอัยยิกาต่งเพื่อมิให้เป็นภัยในวันหน้า เหอจิ้นสั่งให้มหามนตรีทั้งสามพร้อมด้วยแม่ทัพเหอเหมียวน้องชายของตนถวายฎีกาว่า พระอัยยิกาต่งสมคบกับขุนนางกินสินบาทคาดสินบน พร้อมทั้งว่าพระอัยยิกาถือเป็นไท่โฮ่วหรือไทเฮาของเมืองหนึ่ง[4] ไม่ควรอยู่ในเมืองหลวงต่อไป ควรกลับไปพักอยู่เมืองส่วนของตน หลังถวายฎีกาไป เหอไทเฮาก็อนุมัติในทันที ส่งขุนนางไปบีบบังคับให้พระอัยยิกาต่งออกจากวังเหอจิ้นพากำลังทหารไปล้อมจวนของต่งจ้ง และบังคับให้ต่งจ้งมอบตราตำแหน่งมา ต่งจ้งฆ่าตัวตายด้วยความหวาดกลัว ส่วนพระอัยยิกาต่งประชวรสิ้นพระชนม์กระทันหัน หลังจัดการตระกูลต่งเรียบร้อย เหอไทเฮาจึงจัดงานพระราชพิธีศพให้หลิงตี้ ฝังไว้ที่สุดสานเหวินหลิง ตั้งปั๋วไห่หวางหลิวเสียเป็นเฉินหลิวหวาง

แม้จะฆ่าเจี่ยนซั่วแล้ว แต่อิทธิพลกลุ่มขันทีก็ยังไม่หมดไป เวลานี้หยวนส้าวกล่าวกับเหอจิ้นว่า “บัดนี้ท่านแม่ทัพและพี่น้องกุมกำลังทหารส่วนพระองค์ ฟ้าประทานโอกาสดี ท่านแม่ทัพควรฉวยโอกาสนี้ขจัดภัยให้แผ่นดิน ขออย่าได้ลังเลอีกเลย! ” เหอจิ้นเห็นว่าวาจาของหยวนส้าวมีเหตุผล จึงไปหารือกับเหอไทเฮาเพื่อหาทางกำจัดกลุ่มขันที หันมาใช้ปัญญาชนแทน เหอไทเฮาขบคิดอยู่นานก็ตรัสว่า “ขันทีคุมอำนาจทหารส่วนพระองค์เป็นระบบเดิมของราชวงศ์ฮั่น ไยต้องกำจัดทิ้งเล่า? อย่าว่าแต่ฮ่องเต้เพิ่งสวรรคต ข้าก็ไม่เหมาะจะทำงานร่วมกับปัญญาชน รออีกพักหนึ่งค่อยว่ากันเถิด! ” เหอจิ้นพูดอะไรต่อไม่ได้ จึงจำต้องถอยออกมา หยวนส้าวเข้าไปถามความคืบหน้า เหอจิ้นขมวดคิ้วกล่าวว่า “ไทเฮาไม่เห็นชอบ จะทำเช่นไรดี? ” หยวนส้าวร้อนใจ กล่าวว่า “ตอนนี้เหมือนขี่หลังเสือยากจะลง หากเสียโอกาสไป เกรงจะเกิดเภทภัยแก่ตัว! ” เหอจิ้นกล่าวอย่างเชื่องช้าว่า “ข้าว่ามิสู้เชือดไก่ให้ลิงดู ฆ่าตัวหัวหน้าทิ้ง คนที่เหลือยังจะกล้าทำอะไรอีก? ” หยวนส้าวได้ฟังก็ยังรู้สึกว่าไม่เหมาะ กล่าวว่า “ขันทีใกล้ชิดฝ่าบาท ถ่ายทอดพระราชโองการ ขยับหนึ่งก็เคลื่อนถึงร้อย มิใช่ฆ่าเพียงคนสองคนก็จะพ้นเภทภัยได้ อย่าว่าแต่ขันทีเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน มีหรือจะแบ่งหัวหน้าลูกน้อง? ต้องกำจัดพวกเขาให้หมดสิ้นจึงจะไม่ทิ้งปัญหาไว้ในวันหน้า! ”

เหอจิ้นเป็นคนโลเลตัดสินใจไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะทำเช่นไรดี ข้างฝ่ายขันทีจางรั่ง จ้าวจงพอสืบรู้ข่าว ก็เอาแก้วแหวนเงินทองไปติดสินบนอู่หยางจวินมารดาของเหอจิ้นและเหอเหมียวน้องชายของเหอจิ้น อู่หยางจวินได้ข้าวของก็เข้าวังไปหาเหอไทเฮาหลายครั้ง พูดจาให้กลุ่มขันที ทั้งบอกว่าแม่ทัพใหญ่เหอจิ้นมักสังหารคนใกล้ชิดฮ่องเต้ ถืออำนาจมากเกินไป มิใช่เรื่องดีสำหรับฮ่องเต้ พอเป็นเช่นนี้ เหอไทเฮาก็ค่อยๆ ห่างเหินจากเหอจิ้น

เหอจิ้นไม่ได้รับการสนับสนุนจากเหอไทเฮา เวลานั้นไม่กล้าทำการใด หยวนส้าวคอยออกความคิดต่างๆ เสนอให้เขาเรียกผู้กล้าทั้งหลายเข้าเมืองหลวง เพื่อบีบให้ไทเฮากำจัดขันที เฉินหลินซึ่งเป็นเลขานุการของเหอจิ้นเห็นว่าไม่ควร เขาเกลี้ยกล่อมว่า “ชาวบ้านว่า ปิดตาจับนกกระจอก เป็นการเยาะเย้ยคนที่หลอกตัวเองและหลอกคนอื่น ลองคิดดูการจะจับสัตว์เล็กเพียงนี้ยังทำเช่นนั้นไม่ได้ อย่าว่าแต่เรื่องใหญ่ระดับบ้านเมืองเลย บัดนี้ท่านแม่ทัพอาศัยบารมีฮ่องเต้ กุมอำนาจทหารในมือ จะกำจัดขันที ก็เหมือนเอาเตาร้อนๆ มาเผาจนขนไหม้ ง่ายราวพลิกฝ่ามือ ขอเพียงตัดสินใจเฉียบขาดก็จะสำเร็จได้ วันนี้หากเรียกตัวขุนนางท้องที่เข้ามาเมืองหลวง ก็เท่ากับเป็นการยกอำนาจให้ผู้อื่น ไม่เพียงไม่มีความชอบ ยังจะนำมาซึ่งเภทภัยในวันหน้า! ” เหอจิ้นไม่สนใจ กลับให้คนเขียนหนังสือแล้วส่งออกไปยังท้องที่ต่างๆ

ต่งจั๋วเข้าเมืองหลวง

แม่ทัพต่งจั๋ว (ตั๋งโต๊ะ) ได้รับหนังสือก็ส่งคนมารายงานว่าจะเข้าเมืองหลวงในเร็ววัน เหอจิ้นได้ยินก็ดีใจ แต่เหอไทเฮายังคงลังเลไม่ยอมลงมือง่ายๆ เหอเหมียวก็พยายามปกป้องขันที กล่อมเหอจิ้นว่า “ก่อนหน้านี้ข้ากับพี่จากหนานหยางเข้าเมืองหลวง ลำบากหนักหนา เคยได้ขันทีช่วยเหลือ เราจึงได้ดีถึงทุกวันนี้ เรื่องการปกครองหาใช่เรื่องง่าย หากพลั้งพลาดไปก็ยากรั้งคืน หวังให้ท่านพี่คิดให้รอบคอบก่อน! ตอนนี้ไม่สู้สงบศึกกับขันที อย่าเพิ่งผลีผลามทำการใด! ” เหอจิ้นได้ฟังก็นึกลังเลอีก รีบส่งมนตรีที่ปรึกษาฉงส้าวนำหนังสือคำสั่งไประงับการเข้าเมืองหลวงของต่งจั๋ว ต่งจั๋วมาถึงเฉิงฉือแล้ว ไม่ยอมรับหนังสือระงับแต่กลับเคลื่อนพลต่อ ฉงส้าวพยายามทัดทาน ต่งจั๋วจำต้องตั้งทัพอยู่ที่ศาลาซีหยางที่เหอหนานก่อน

หยวนส้าวซึ่งอยู่ที่เมืองหลวงเห็นเรื่องมาถึงขั้นนี้ จึงกล่อมให้เหอจิ้นรีบตัดสินใจฆ่าขันทีทั้งหลาย เหอจิ้นยังคงลังเลไม่ยอมลงมือ หยวนส้าวไม่มีทางเลือก จึงปลอมคำสั่งเหอจิ้นไปยังหัวเมืองต่างๆ จับครอบครัวของเหล่าขันทีมารอดำเนินคดี เหอจิ้นถูกหยวนส้าวบีบจนหมดทางเลือก จึงเข้าวังไปทูลเหอไทเฮา ขอให้รับปากให้สังหารกลุ่มขันทีทั้งหลาย เหอไทเฮานิ่งเงียบ เหอจิ้นได้แต่ล่าถอย ขันทีจางรั่ง ขันทีต้วนกุยเห็นเหอจิ้นเข้าวังก็นึกระแวงอยู่แล้ว ส่งคนมาแอบฟังจนรู้ความ จางรั่งและพวกหลายสิบคนซุ่มอยู่นอกตำหนักเจียเต๋อ รอเหอจิ้นเข้าตำหนักมาก็เข้าไปรุมล้อมสังหารเหอจิ้น

อู๋ควางซึ่งเป็นแม่ทัพใต้สังกัดเหอจิ้นได้ทราบว่าเหอจิ้นถูกฆ่าตาย ก็ยกพบล้อมพระราชฐานชั้นในไว้ หยวนส้าวได้ฟังก็ส่งแม่ทัพหยวนซู่ (อ้วนสุด) น้องชายมาช่วยอู๋ควางบุกตีประตูพระราชวัง และร้องขอตัวจางรั่งและพวก กลุ่มขันทีรักษาวังไม่เคลื่อนไหวเป็นนาน หยวนซู่จึงจุดไฟนอกประตูชิงสั่ว ไฟโหมรุนแรงลุกโชน จางรั่งและพวกหวาดวิตก จึงไปทูลเหอไทเฮาว่าลูกน้องของแม่ทัพใหญ่เป็นกบฏวางเพลิงเผาพระราชวัง เหอไทเฮาไม่แจ้งว่าเหอจิ้นตายแล้ว ละล้าละลังไม่รู้จะทำเช่นใดดี จางรั่งและพวกจึงพาตัวเหอไทเฮา ฮั่นเส้าตี้และเฉินหลิวหวางหนีออกทางใต้ดินไปยังตำหนักเหนือ

หยวนส้าวนำกำลังบุกตีตำหนักเหนือ ปิดประตูใหญ่ แยกย้ายกันตามหาขันที พบคนหนึ่งก็ฆ่าคนหนึ่ง รวมแล้วฆ่าขันทีไปสามพันกว่าคน จางรั่งถูกเสนาบดีหลูจือขวางไว้ หลูจือช่วยเหอไทเฮาไว้ จางรั่งและพวกหนีออกประตูทิศเหนือ แต่หลูจื๋อตามไปถึงในยามราตรีและฆ่าจางรั่งทิ้ง หลูจื๋อพาตัวเส้าตี้กับเฉินหลิวหวางสองพี่น้องเดินทางฝ่าความมืด

กล่าวถึงต่งจั๋วตั้งพลอยู่ที่ศาลาซีหยาง ต่อมาหยวนส้าวเขียนจดหมายเร่งรัด จึงนำทัพมาถึงเสี่ยนหยางเยวี่ยน มองแต่ไกลเห็นไฟไหม้จากทางพระราชวัง คิดว่าคงมีเหตุการณ์คับขัน จึงเร่งเดินทัพเข้าเมืองหลวง บังเอิญพบกับเส้าตี้และคนท้งหลายที่เขาเป่ยหมางซาน ต่งจั๋วคำนับเส้าตี้ เส้าตี้เห็นต่งจั๋วก็นึกหวาดกลัว ขณะตื่นตระหนกกล่าววาจาติดๆ ขัดๆ ไม่เป็นความ ส่วนเฉินหลิวหวางหลิวเสียมีท่าทีไม่รีบร้อน ปลอบขวัญต่งจั๋วที่ยกทัพมาไกล แล้วเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ผิดพลาดตั้งแต่ต้นจนจบ ต่งจั๋วนึกอัศจรรย์ จึงตั้งใจว่าจะยกเฉินหลิวหวางเป็นฮ่องเต้แทน

หลังจากต่งจั๋วยกทัพเข้าเมืองหลวงก็ค่อยๆ ควบคุมสถานการณ์ได้ ใช้ให้คนร้องเรียนหลิวหงซึ่งมีตำแหน่งซือคง[5] จากนั้นตนเองก็เข้ารับตำแหน่งแทน ตั้งเฉินหลิวหวางวัยเก้าชันษาเป็นฮ่องเต้ ซึ่งต่อมาคือพระเจ้าฮั่นเซี่ยนตี้ (ฮั่นเหี้ยนเต้) ในประวัติศาสตร์ ถอดหลิวเปี้ยนลงมาเป็นหงหนงหวาง ย้ายเหอไทเฮาไปตำหนักหย่งอัน ต่อมาต่งจั๋วก็วางยาสังหารเหอไทเฮา

หลังจากต่งจั๋วตั้งเซี่ยนตี้แล้วก็ตั้งตัวเองเป็นเหมยโหว ต่อมาก็เลื่อนตำแหน่งเป็นอัครมหาเสนาบดี กุมอำนาจราชสำนัก ต่งจั๋วโลภมากและฝักใฝ่ในกามคุณ ปล่อยให้ทหารแย่งชิงของชาวบ้านและฉุดคร่าสตรีได้ตามอำเภอใจ ต่งจั๋วเองอยู่ในจวน ทุกครั้งที่มีทหารปล้นชิงฉุดคร่ากลับมา จะตรวจสอบเองก่อน หากได้ของล้ำค่าหรือสตรีงามก็จะเก็บไว้เอง จากนั้นก็แบ่งให้ทหารทั้งหลาย องค์หญิงและนางในที่อยู่ในวังหลวง หากต่งจั๋วพอใจก็มิอาจพ้นชะตากรรมเลวร้ายไปได้

พฤติกรรมชั่วช้าของต่งจั๋วทำให้คนทั้งหลายพากันโกรธแค้น ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นทั้งหลายพากันจัดตั้งกองกำลังยกมาปราบต่งจั๋ว เฉียวเม่าเจ้าเมืองตงจวิ้นอ้างคำสั่งลับสามมหามนตรี ส่งหนังสือไปยังหัวเมืองต่างๆ ประนามความชั่วต่างๆ ของต่งจั๋ว เรียกร้องให้กลุ่มอำนาจต่างๆ ยกพลมาปราบปราม หยวนส้าวเจ้าเมืองปั๋วไห่ยกพลขึ้นก่อน ไม่นานก็รวมกองกำลังได้สิบสี่สาย เนื่องจากหัวเมืองที่แข็งข้อเหล่านี้อยู่บริเวณกวานตง (ด้านตะวันออกของด่านถงกวาน) ประวัติศาสตร์จึงเรียกว่า “ทัพกวานตง” ทัพกวานตงพร้อมใจกันยกหยวนส้าวเป็นประมุขพันธมิตร ยกทัพล้อมนครลั่วหยางจากทางเหนือ ตะวันออก และตะวันตก

ต่งจั๋วตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปฉางอันเพื่อหนีทัพกวานตงเป็นการชั่วคราว ขุนนางทั้งบุ๋นและบู๊ต่างไม่เห็นด้วย  แต่ถูกต่งจั๋วบังคับจึงจำต้องเดินทางไปทางตะวันตก ราษฎรนับล้านคนต้องจากบ้านเกิด ระหกระเหินเดินทาง บ้างหนาวตาย บ้างหิวตาย เป็นจำนวนนับไม่ถ้วน ต่งจั๋วยังสั่งให้จุดไฟเผานครลั่วหยาง ในรัศมีสองร้อยลี้เหลือแต่ดินไหม้ ไม่มีแม้สุนัขและไก่รอดชีวิต

ทัพกวานตงต่างคนต่างคิดเพื่อตนเอง ไม่มีใครต้องการทำสงครามแตกหักกับต่งจั๋วอย่างแท้จริง ปีที่ 3 แห่งรัชศกชูผิง (ค.ศ.192)หวางอวิ่น (อ้องอุ้น) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นซือถู (เทียบได้กับสมุหนายก) วางอุบายใช้หลี่วปู้ (ลิโป้) บุตรบุญธรรมของต่งจั๋วสังหารต่งจั๋วได้ เซี่ยนตี้ตั้งหวางอวิ่นให้ควบเสนาบดี เลื่อนหลี่ว์ปู้เป็นแม่ทัพตำแหน่งเฟิ่นเวยเจียงจวิน บรรดาศักดิ์เป็นเวินโหว ทั้งสองร่วมกันบริหารแผ่นดิน

 

หลี่เจ๋ว์และกัวซื่อต่อสู้กันเอง

เวลานั้นราษฎรมีคำเล่าลือกันว่าราชสำนักเตรียมฆ่าชาวเหลียงโจวให้หมด[6] หลี่เจ๋ว์ (ลิฉุย) และกัวซื่อ(กุยกี) ผู้ใต้บังคับบัญชาเก่าของต่งจั๋วเป็นชาวเหลียงโจว ทั้งสองจึงส่งคนมานครฉางอันเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ หวางอวิ่นไม่เห็นชอบ หลี่เจ๋ว์กับกัวซื่อยิ่งหวาดกลัว ตั้งใจจะแยกย้ายกันหนีกลับบ้านเกิด เจี๋ยสวี (กาเซี่ยง) ซึ่งมีตำแหน่งเป็นแม่ทัพปราบอนารยชนเสนอว่า “หากทุกคนสลายทัพหนีไปทางตะวันออก ให้เป็นแค่กำนันคนเดียวก็จับพวกท่านไว้ได้ ไม่สู้รวมกันบุกตะวันตกเข้าตีฉางอัน แก้แค้นให้ท่านต่ง หากได้ชัยก็เท่ากับได้แผ่นดิน หากแพ้ค่อยหนีไปก็ไม่สาย! ” หลี่เจ๋ว์ได้ยินดังนั้นก็รีบบัญชาทัพเคลื่อนพลไปตะวันตกมุ่งสู่นครฉางอัน ระหว่างทางเก็บตกทหารที่แตกกระจัดกระจายจากทัพทั้งหลายมาตลอดทาง พอถึงฉางอันก็มีกำลังรวมแสนกว่านาย

หลี่เจ๋ว์กับกัวซื่อยกทัพล้อมนครฉางอันไว้ หลี่ว์ปู้ขึ้นกำแพงเมืองรักษาที่มั่น ตั้งประจันหน้ารบกันแปดวันไม่มีผู้ใดได้ชัย ลูกน้องของหลี่ว์ปู้ทรยศ แอบเปิดประตูเมือง ทำให้หลี่เจ๋ว์และพวกบุกเข้าในเมืองได้ เกิดจลาจลในนครฉางอัน หลี่ว์ปู้พยายามต่อสู้ แต่ทหารจากข้างนอกเข้ามามากขึ้นทุกที ในที่สุดก็รับมือไม่ไหว จำต้องแหวกวงล้อมนี้ไปถึงนอกประตูชิงสั่ว จะพาหวางอวิ่นหนีไปด้วยกัน หวางอวิ่นถอนใจยาวกล่าวว่า “ข้าปรารถนาจะเห็นบ้านเมืองรุ่งเรือง แว่นแคว้นมั่นคง หากไม่สามารถก็มีแต่ตาย บัดนี้ฝ่าบาทเยาว์วัย ได้อาศัยข้าช่วยค้ำชู จะให้หนีเอาตัวรอด ข้าไม่อาจหักใจจากไป วานท่านช่วยบอกขุนศึกกวานตงทั้งหลายให้ช่วยคลายวิกฤติแผ่นดินให้สงบ หากเป็นเช่นนี้ ข้าก็ตายตาหลับ! ” หลี่ว์ปู้พาไพร่พลไม่กี่ร้อยคนออกด่านอู่กวานไปพึ่งหยวนซู่

หลี่เจ๋ว์และพวกล้อมประตูวังไว้ หวางอวิ่นพาเซี่ยนตี้เสด็จขึ้นหอประตูเซวียนผิง มองลงไปจากบนกำแพงเมือง เห็นม้าและทหารมากมาย เซี่ยนตี้มิได้หวาดเกรงเพราะสภาพเบื้องหน้า ตรัสกับหลี่เจ๋ว์ด้วยพระสุรเสียงอันดังว่า “พวกท่านปล่อยทหารย่ำยีเมือง ต้องการอะไรกันแน่? ” หลี่เจ๋ว์เห็นเป็นเซี่ยนตี้ก็หมอบลงกับพื้นแล้วโขกศีรษะคำนับ ทูลตอบว่า “ต่งจั๋วจงรักภักดีกับฝ่าบาท แต่กลับถูกหลี่ว์ปู้สังหาร กระหม่อมทั้งหลายมาในวันนี้เพื่อล้างแค้นให้ต่งจั๋ว หากล้าเป็นกบฏไม่ ครั้นเสร็จเรื่องแล้ว จะไปขอรับโทษเองพระเจ้าข้า” เซี่ยนตี้ตรัสว่า “หลี่ว์ปู้หนีไปแล้ว ท่านทั้งหลายต้องการจับหลี่ว์ปู้ ก็จงไล่ตามไป เหตุใดจึงต้องล้อมพระราชวังไว้? ” หลี่เจ๋ว์ทูลตอบว่า “ซือถูหวางอวิ๋นสมคบกับหลี่ว์ปู้ ขอฝ่าบาทให้หวางอวิ่นออกมา เกล้ากระหม่อมจะถามให้รู้ชัด! ” หวางอวิ่นได้ฟังก็ลงจากหอกล่าวกับหลี่เจ๋ว์ว่า “หวางอวิ่นอยู่ที่นี่ พวกเจ้ามีอะไรจะพูด? ” หลี่เจ๋ว์และพวกประนามหวางอวิ่นว่า “ไท่ซือ[7]มีความผิดใด ท่านจึงฆ่าเขา!” หวางอวิ่นถลึงตา กล่าวด้วยเสียงโกรธเกรี้ยวว่า “ต่งจั๋วสมควรตาย ราษฎรชาวฉางอันได้ยินว่าต่งจั๋วตายแล้ว ไม่มีผู้ใดไม่ปรบมือร้องดีใจ พวกเจ้ามิได้ยินมาบ้างหรือ? ” หลี่เจ๋ว์แย้งว่า “ต่อให้ไท่ซือมีความผิด ก็ไม่เกี่ยวข้องกับพวกเรา เหตุใดจึงไม่ยอมยกเว้นโทษให้พวกเรา? ” หวางอวิ่นตวาดว่า “พวกเจ้าเป็นกบฏทำร้ายราษฎร จะว่าไม่มีความผิดได้อย่างไร? บัดนี้พวกเจ้านำทัพบุกเมืองหลวง หรือมิใช่ความผิดมหันต์? พวกเจ้ายังมีอะไรพูดอีก! ” หลี่เจ๋ว์และพวกไม่กล่าวโต้แย้งอีก แต่ให้คนไปจับตัวหวางอวิ่นมาแล้วฆ่าเสีย เซี่ยนตี้ตกอยู่ในมือหลี่เจ๋ว์กับกัวซื่อ หลี่เจ๋ว์เลื่อนตำแหน่งให้ตนเป็นแม่ทัพเชอจี้[8] และกัวซื่อเป็นแม่ทัพหลัง ทั้งสองร่วมกันบริหารแผ่นดิน

เพียงชั่วพริบตาก็ผ่านไปถึงสองปี พระเจ้าเซี่ยนตี้ประกอบพิธีเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ เปลี่ยนรัชศกเป็นซิงผิง ปีต่อมา (ค.ศ.195) หลี่เจ๋ว์กับกัวซื่อก็เกิดกินแหนงแคลงใจกันจนถึงขั้นยกทัพรบพุ่งกันเอง กัวซื่อคิดจะชิงตัวเซี่ยนตี้มาอยู่กับตนเพื่อชิงความมีเปรียบ ไม่คาดความรั่วไหล หลี่เจ๋ว์ชิงลงมือก่อน เขาส่งหลี่เสียนซึ่งเป็นบุตรของพี่ชายนำทัพหลายพันคนไปล้อมประตูวัง บังคับตัวเซี่ยนตี้ออกจากวัง หยางเปียวซึ่งดำรงตำแหน่งไท่เว่ยออกมาบอกหลี่เสียนว่า “แต่โบราณไม่เคยได้ยินว่าประมุของค์ใดจะย้ายไปประทับจวนขุนนาง ท่านทั้งหลายทำการใด ควรได้ใจคน เหตุใดจึงผลีผลามสะเพร่าถึงเพียงนี้! ” หลี่เสียนกล่าวเสียงดังว่า “แม่ทัพข้าเกรงกัวซื่อจะเข้าวังมาก่อกบฏ จึงส่งข้ามารับเสด็จ เชิญประทับหนีภัยก่อน ท่านกล้าขัดขวาง หรือท่านสมคบกับกัวซื่อ! ” หยางเปียวไม่กล่าววาจาอีก เข้าไปทูลเซี่ยนตี้ให้ทรงทราบ เซี่ยนตี้ก็ไร้ทางเลือก หลี่เสียนใช้รถม้าคันใหญ่สามคันเชิญเสด็จเซี่ยนตี้และฮองเฮาไปประทับยังค่ายของหลี่เจ๋ว์ จากนั้นก็นำทัพเข้าวังปล้นชิงตามอำเภอใจ กวาดเอาสมบัติล้ำค่าในวังไปในค่ายของหลี่เจ๋ว์ แล้วก็จุดไฟเผาพระราชวังจนหมดสิ้น

เซี่ยนตี้ประทับอยู่ในค่ายของหลี่เจ๋ว์ด้วยความหวาดวิตกไม่เปอันเสวยไม่อันบรรทมในที่สุดก็ตัดสินใจแก้ไขสถานการณ์ด้วยการส่งหยางเปียวและขุนนางใหญ่อื่นไปเจรจาสงบศึกที่ค่ายของกัวซื่อ กัวซื่อไม่เห็นชอบ ซ้ำกลับจับตัวหยางเปียวและพวกไว้ บังคับให้ร่วมกันโจมตีหลี่เจ๋ว์ หยางเปียวโกรธจัด กล่าวว่า “ขุนนางทั้งหลายแก่งแย่งกันเอง คนหนึ่งจับฮ่องเต้เป็นตัวประกัน อีกคนจับขุนนางใหญ่เป็นตัวประกัน แต่โบราณถึงปัจจุบันมีผู้ใดทำเช่นนี้บ้าง? ” กัวซื่อโกรธจนลุกขึ้นมาชักกระบี่ชี้หน้าหยางเปียว สีหน้าถมึงทึง หยางเปียวไม่มีท่าทีหวาดกลัว กล่าวอย่างไม่รีบไม่ร้อนกว่า “ในเมื่อท่านไม่คำนึงถึงบ้านเมือง ข้าจะกล้าหวังมีชีวิตอยู่อีกหรือ! ” หลังคนอื่นๆ ช่วยกันเกลี้ยกล่อม กัวซื่อจึงยอมรามือ แต่ก็ยังไม่ยอมปล่อยตัวขุนนางใหญ่ทั้งหลายกลับ หลี่เจ๋ว์เรียกระดมชาวหู[9]จำนวนหลายพันคน แจกทรัพย์สินให้และให้พวกเขาโจมตีกัวซื่อ กัวซื่อแอบติดสินบนแม่ทัพจางเปาซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาของหลี่เจ๋ว์ ให้จางเปาคอยประสานงานรับเมื่อยกทัพไปตีหลี่เจ๋ว์ มีการยิงธนูไปยังกระโจมที่เซี่ยนตี้ประทับ หลี่เจ๋ว์ถูกธนูที่หูซ้าย จางเปาจุดไฟเผาหลังกระโจม หลี่เจ๋ว์ตระหนกรีบย้ายเซี่ยนตี้ไปเป่ยอูแล้วส่งคนไปเฝ้าประตูไว้เนื่องจากขาดการติดต่อกับภายนอก จึงขาดเสบียงอาหาร ขุนนางทั้งหลายมีสีหน้าหิวโหย เซี่ยนตี้ขอข้าวสารห้าโต่ว[10]กับกระดูกวัวห้าชิ้นมาแบ่งแก่เหล่า0ขุนนาง หลี่เจ๋ว์พูดด้วยความโกรธว่า “ให้ข้าวพวกท่านกินทั้งเช้าเย็น จะเอาข้าวสารไปทำไม? ” แล้วก็ให้คนเอากระดูกวัวส่งกลิ่นเหม็นไปให้เพียงห้าชิ้น เซี่ยนตี้เห็นดังนั้นก็นึกกริ้ว จะไปต่อว่าหลี่เจ๋ว์ ขุนนางใกล้ชิดชื่อหยางฉีทูลว่า “หลี่เจ๋ว์เองก็รู้ว่าเรื่องที่ตนทำนั้นอกตัญญูชั่วช้า คิดจะเอาพระองค์เป็นตัวประกันไปถึงฉือหยาง ขอให้ฝ่าบาทสะกดกลั้นไว้ก่อน รอโอกาสเหมาะค่อยว่ากัน” เซี่ยนตี้ได้ฟังก็ก้มพระพักตร์ไม่ตรัสอะไร ได้แต่เช็ดน้ำพระเนตรไม่หยุด

เซี่ยนตี้ยังส่วงหวงฝู่ลี่ไปเกลี้ยกล่อมให้หลี่เจ๋ว์กับกัวซื่อสงบศึกกัน หวงฝู่ลี่ไปพบกัวซื่อก่อนและเกลี้ยกล่อมด้วยมธุรสวาจา กัวซื่อรับปากยอมสงบศึก แต่พอให้หาหลี่เจ๋ว์ หลี่เจ๋ว์กลับไม่ตกลง กล่าวว่า “ข้ามีความชอบในการปราบหลี่ว์ปู้ ช่วยบริหารแผ่นดินมาสี่ปี ไม่มีเรื่องร้ายใด ย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วแผ่นดิน! กัวซื่อเป็นแค่โจรขโมยม้า ไฉนจึงกล้าต่อกรกับข้า อย่าว่าแต่มันกล้าจับขุนนางเป็นตัวประกัน โทษร้ายแรงไม่อาจอภัยได้ ข้าต้องฆ่ามันให้ได้ ท่านก็เป็นชาวเหลียงโจว ท่านเห็นว่าปัญญาข้ากับลูกน้องเหนือกว่ากัวซื่อมากมิใช่หรือ? ” หวงฝู่ลี่เห็นหลี่เจ๋ว์ตอบมาดังนี้ก็ว่า “โบราณมีโฮ่วอี้ ถือตนว่าชำนาญการยิงธนู ท้ายสุดยังล่มสลาย ยุคใกล้มานี้มีท่านต่งเข้มแข็งเกรียงไกร ท้ายสุดสิ้นชีพและถูกประหารล้างโคตร เห็นได้ว่ามีความกล้าหาญแต่ไร้ปัญญา จะนำมาซึ่งความล่มจมในตอนท้าย บัดนี้ท่านแม่ทัพเป็นแม่ทัพผู้ใหญ่ ลูกหลานญาติวงศ์อยู่ในตำแหน่งสำคัญ ควรหรือจะทรยศพระคุณบ้านเมือง? อย่าว่าแต่กัวซื่อจับขุนนางเป็นตัวประกัน ท่านแม่ทัพก็กลับยึดพระองค์ฮ่องเต้ไว้ ผู้ใดโทษเบา ผู้ใดโทษหนัก ไม่ต้องกล่าวก็ชัดแจ้ง หากท่านแม่ทัพไม่รู้จักแก้ไข หากวันหน้าผู้คนเอาใจออกหาก ถึงเวลานั้นเสียใจก็สายเกิน” หลี่เจ๋ว์ไม่ยอมฟังคำเตือน กลับคิดฆ่าหวงฝู่ลี่

หยางเฟิงซึ่งอยู่ใต้บัญชาหลี่เจ๋ว์ไม่พอใจการกระทำของหลี่เจ๋ว์ วางอุบายกับซ่งกั่วว่าจะฆ่าหลี่เจ๋ว์และส่งเซี่ยนตี้กลับ ไม่คาดแผนการณ์รั่วไหล ซ่งกั่วถูกฆ่าตาย ส่วนหยางเฟิงหนีรอดไปได้ เวลานั้นพอดีจางจี้แม่ทัพปราบตะวันออกยกพลมาเมืองหลวง มาเข้าเฝ้าเซี่ยนตี้และขอให้เซี่ยนตี้มีพระราชโองการคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างทั้งสอง ทั้งทูลว่าตนเองยินดีตามเสด็จไปหงหนง เซี่ยนตี้ฟังก็ดีพระทัยและโปรดให้เป็นไปตามนั้น หลังผ่านการไกล่เกลี่ย หลี่เจ๋ว์กับกัวซื่อก็สงบศึกกัน กัวซื่อยอมปล่อยตัวขุนนาง ส่วนเซี่ยนตี้ก็เดินทางไปหงหนงโดยมีจางจี้อารักขา

หลี่เจ๋ว์ไม่ยินดีไปหงหนงจึงออกมารักษาฉือหยาง ส่วนกัวซื่อนำทัพตามเสด็จเซี่ยนตี้ไป เซี่ยนตี้ตั้งจางจี้เป็นแม่ทัพเพี่ยวจี้ กัวซื่อเป็นแม่ทัพเช่อจี้ หยางติ้งเป็นแม่ทัพหลัง หยางเฟิ่งเป็นแม่ทัพซิงอี้ ต่งเฉินเป็นแม่ทัพอันจี๋ ร่วมตามเสด็จไปหงหนงด้วยกัน กัวซื่อไม่ต้องการไปทางตะวันออก จึงทูลขอให้เซี่ยนตี้เปลี่ยนไปเกาหลิง พอเดินทางมาถึงซินเฟิง กัวซื่อก็คิดจะบีบบังคับเซี่ยนตี้กลับเมืองเหมย หยางติ้งกับต่งเฉิงนำกำลังเข้าขัดหวาง กัวซื่อคนน้อยกว่าสู้ไม่ได้จึงหนีไปภูเขาหนานซาน ไม่นาน ขบวนเสด็จก็มาถึงหฺวาอิน ต้วนเว่ยซึ่งเป็นแม่ทัพหนิงจี๋ออกจากค่ายมารับเสด็จ ทูลถวายอาหารและฉลองพระองค์แก่เซี่ยนตี้และฮองเฮา เชิญเซี่ยนตี้พักในค่ายทหารของตน แม่ทัพหลังหยางติ้งไม่ถูกกับต้วนเว่ย จึงร่วมกับต่งเฉิงและหยางเฟิ่งใส่ความต้วนเว่ยว่าสมคบกับกัวซื่อจะชิงตัวเซี่ยนตี้ไป เซี่ยนตี้เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง มิได้ตำหนิโทษต้วนเว่ย หยางติ้งกับหยางเฟิ่งนำทัพโจมตีต้วนเว่ย ต้วนเว่ยก็นำกำลังต่อต้าน ทั้งสองฝ่ายรบกันสิบกว่าวัน ไม่แพ้ไม่ชนะ ต้วนเว่ยยังคงถวายอาหารแก่เซี่ยนตี้และพวก พร้อมทั้งถวายหนังสือทูลว่าตนมิได้มีใจทรยศ เซี่ยนตี้ให้คนไกล่เกลี่ย ทั้งสองฝ่ายจึงเลิกรากัน

ไม่คาดคลื่นลูกหนึ่งยังไม่ทันสงบดี คลื่นอีกลูกก็โหมกระหน่ำ หลี่เจ๋ว์และกัวซื่อจับมือเป็นพันธมิตรกันใหม่แล้วยกทัพมาไล่ตามเซี่ยนตี้ หยางติ้งเกรงว่าจะรับศึกไม่ไหว จึงทิ้งเซี่ยนตี้หนีไปหลานเถียน ระหว่างทางกัวซื่อสกัดเอาไว้และตีทัพหยางติ้งแตกจนต้องหนีไปจิงโจว (เกงจิ๋ว) จางจี้มีใจเป็นอื่น ตั้งใจจะไปชิงตัวเซี่ยนตี้มาจากค่ายทหารของหยางเฟิ่ง แต่ความรั่วไหล หยางเฟิ่งกับต่งเฉิงคุ้มครองเซี่ยนตี้ไปหงหนงในคืนนั้น จางจี้ได้ทราบก็ไล่ตามแต่ตามไม่ทัน มาพบกับกัวซื่อและหลี่เจ๋ว์ จึงรวมกำลังกันไล่ตามเซี่ยนตี้ หยางเฟิ่งกับต่งเฉิงมีกำลังน้อยสู้ไม่ได้ ต้องทิ้งสมบัติต่างๆ เซี่ยนตี้กับไทเฮาแยกประทับราชรถองค์ละคัน ต่งเฉิงเสี่ยงชีวิตอารักขาจึงหนีรอดไปได้ เมื่อหนีมาถึงเขตเมืองเฉาหยางก็เป็นเวลาค่ำ ไม่มีที่พักแรม ได้แต่พักกลางทาง ข้างหยางเฟิ่งกับต่งเฉิงทางหนึ่งใช้อุบายยื้ดวลา แสร้งส่งคนไปเจรจาสงบศึกกับหลี่เจ๋ว์ อีกทางหนึ่งส่งคนไปเหอตงเพื่อขอกำลังเสริม พอกำลังเสริมมาถึง หยางเฟิ่งกับต่งเฉิงก็เอาชัยกองทัพของหลี่เจ๋ว์ได้และสังหารไพร่พลไปหลายพันนาย เซี่ยนตี้เดินทางต่อไปยังตะวันออก หลังไปได้หลายลี้ ก็เห็นฝุ่นคลีฟุ้งจากด้านหลัง ที่แท้หลี่เจ๋ว์สืบรู้ว่ากำลังเสริมจากเหอตงมีเพียงไม่กี่พันนาย ซ้ำเป็นทหารที่ไม่ได้มีการฝึกฝนอย่างดี จึงเปลี่ยนใจไล่ตามมาอีก หลี่เจ๋ว์ กัวซื่อ จางจี้แยกกระหนาบตีสามด้าน ทัพหยางเฉิงแตกกระจาย ขุนนางใหญ่ที่ตามเสด็จบาดเจ็บล้มตายกันมาก ต่งเฉิงอารักขาเซี่ยนตี้หนีไปได้ไม่กี่ลี้ ก็มีทหารไล่ตามมา มีคนทูลขอให้เซี่ยนตี้ทรงม้าหนีไป เซี่ยนตี้ตรัสสะอื้นว่า “ไม่ได้ดอก ขุนนางทั้งหลายมีความผิดใด ข้าไม่อาจทิ้งพวกเขาหนีไปได้” ต่งเฉิงและพวกรบพลางหนีพลาง พอค่ำก็มาถึงเขตส่านซี เวลานี้กำลังทหารที่ไล่ตามมาลดลงบ้าง ทหารทั้งหลายตั้งค่ายพักแรม การศึกคราวนี้เสียทหารไปเจ็ดแปดส่วน ทัพองครักษ์เหลือไม่ถึงร้อยนาย ต่อมาหลี่เจ๋ว์มาล้อมค่ายตะโกนร้อง คนทั้งหลายตระหนกเสียขวัญ หารือวิธีหลบหนี

มีคนเสนอให้ข้ามแม่น้ำฮวงโห กว่าจะหาเรือก็ได้สักลำก็ยากเย็น คนทั้งหลายพาเซี่ยนตี้เดินออกจากค่าย ฝูฮองเฮาพระเกศายุ่งเหยิง พระพักตร์ซูบซีด ตามเสด็จเซี่ยนตี้ ฝูหวาน[11]บิดาของฝูฮองเฮาพยุงฮองเฮาไว้มือหนึ่ง อีกมือหนีบแพรสิบพับ ต่งเฉิงได้เห็นก็ไม่พอใจ ให้คนไปแย่งมา มีคนหนึ่งถูกฆ่าตาย เลือดกระเซ็นไปถูกฉลองพระองค์ฝูฮองเฮา ฝูฮองเฮาตกพระทัยสั่นกลัว ยุดชายฉลองพระองค์เซี่ยนตี้ไว้แล้วกรรแสงขอให้ช่วย เซี่ยนตี้ออกประโอษฐ์ปราม การแย่งชิงจึงยุติลง พอถึงริมน้ำ เห็นอากาศหนาวจัด น้ำลงต่ำกว่าฝั่งหลายวา เซี่ยนตี้กับฝูฮองเฮาลงเรือไม่ได้ โชคดีในมือฝูหวานมีแพรเหลืออยู่บ้าง จึงเอาแพรห่อพระองค์เซี่ยนตี้ไว้ ให้คนสองคนช่วยกันยกขึ้นเรือ ฝูหวานแบกฮองเฮากระโดดขึ้นเรือไป คนที่เหลือบางคนบ้างก็หมอบกับพื้นแล้วค่อยๆ คลานลงไป บางคนก็กระโดดจากฝั่งลงไป หมวกกับผ้าผูกผมเสียหายหมด พอถึงริมน้ำ ทหารพากันกระโดดขึ้นเรือ คนที่ขึ้นเรือไม่ได้ก็ดึงเรือไว้ ต่งเฉิงเอาเกอ[12]ฟันมือคนเหล่านั้น คนที่ข้ามน้ำมาได้มีเพียงหยางเปียวและพวกไม่กี่สิบคน นางในและราษฎรที่ไม่สามารถขึ้นเรือได้ก็ถูกทหารปล้นชิง เอาเสื้อผ้าไปและจับตัดผม คนที่หนาวตายมีจำนวนนับไม่ถ้วน

หลี่เจ๋ว์ได้ทราบก็ส่งคนตามไล่ตี เห็นเซี่ยนตี้อยู่บนเรือก็ร้องว่า “พวกเจ้าจะเอาโอรสสวรรค์ไปหรือ! ” ต่งเฉิงเกรงพวกเขายิงธนูใส่จึงใช้ผ้าห่มกำบัง หลี่เจ๋ว์เก็บเอาข้าวของที่ถูกทิ้งบนฝั่งน้ำไปหมด ข้างเซี่ยนตี้และผู้ที่ตามเสด็จข้ามแม่น้ำฮวงโหไปได้ ก็เดินเท้าไปอีกหลายลี้จนมาถึงต้าหยาง เวลานั้นฟ้าสางแล้ว ต่งเฉิงกับหยางเฟิ่งไปเสาะแสวงหารถม้าแต่ก็ไม่ได้มา หากได้แต่รถเทียมวัว จึงเชิญเสด็จเซี่ยนตี้ขึ้นประทับ คนที่เหลือเดินเท้าตามมาจนถึงอันอี้ จางหยางเจ้าเมืองเหอเน่ย หวางอี้เจ้าเมืองเหอตงมารับเสด็จ เซี่ยนตี้ตั้งจางหยางเป็นแม่ทัพอันกว๋อ (แม่ทัพพิทักษ์แคว้น) หวางอี้เป็นโหว แม่ทัพนายกองทั้งหลายต่างขอเลื่อนตำแหน่ง ถึงขั้นที่ว่าตราสำหรับแกะสลักมีไม่พอใช้ ต้องเขียนตอกลิ่มบนก้อนหิน เซี่ยนตี้ประทับอยู่ในบ้านที่ใช้รั้วหนาม ปิดหน้าต่างไม่ได้ อาศัยกระท่อมหญ้าเป็นท้องพระโรง ทหารทั้งหลายมองจากนอกรั้ว เบียดเสียดกันหัวเราะขันกันเอง

หยางเฟิ่งและพวกเสนอให้ตั้งอันอี้เป็นเมืองหลวง หยางเปียวและพวกเสนอให้กลับนครลั่วหยาง ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ได้แต่พำนักที่อันอี้ก่อนแล้วค่อยหารือกันใหม่ ผ่านมาถึงต้นปีถัดมา เปลี่ยนรัชศกเป็นเจี้ยนอัน เดือน 7 ของปีนี้ เซี่ยนตี้เสด็จนิวัติลั่วหยาง พระราชวังยังสร้างไม่เสร็จ จึงต้องพักที่จวนของขันทีจ้าวจงไปก่อน ไม่นานก็ย้ายกลับตำหนักหยางอัน หลังจากเรียบร้อยดีก็ทรงปูนบำเหน็จขุนนางที่มีความชอบทั้งหลาย เพียงแต่นครลั่วหยางซึ่งเคยโอ่อ่าถูกต่งจั๋วเผาทำลาย ไม่สามารถซ่อมให้ดีได้ในระยะเวลาอันสั้น นอกจากตำหนักหยางอันแล้ว รอบๆ มีแต่กระเบื้องกองระเกะระกะ หนามหญ้ารกรุงรัง ขุนนางทั้งหลายไม่มีที่อาศัย ได้แต่พำนักอยู่ในกองซากปรักหักพัง ในเมืองไม่มีเสบียง เซี่ยนตี้ส่งคนไปขอยังหัวเมืองใกล้เคียงแต่ก็มิมีผู้ใดส่งมา ขุนนางนับตั้งแต่เสนาบดีลงมาต้องออกจากเมืองไปเก็บพืชป่ามายังท้องมิให้หิวโหย บางคนไม่รอดถึงกับล้มตายเพราะอดอาหาร

เฉาเชา “เชิดฮ่องเต้บัญชาท้าวพระยาหัวเมือง”

เฉาเชา (โจโฉ) ซึ่งขณะนั้นครองเมืองเหยี่ยนโจวได้ทราบก็ฉวยจังหวะนั้นเข้าเมืองลั่วหยาง รับตำแหน่งผู้ตรวจราชการควบเสนาบดี ให้ตนได้มีโอกาส “เชิดฮ่องเต้บัญชาท้าวพระยาหัวเมือง” เนื่องจากหยางเฟิ่งและพวกมีทหารอยู่ในลั่วหยาง เกรงว่าจะไม่ยอมตามเฉาเชา เฉาเชาจึงชิงหารือกับต่งเจาซึ่งเป็นขุนนางติดตามพระองค์ ต่งเจาเห็นว่าการย้ายเมืองหลวงไปสี่ว์ชาง (ฮูโต๋) เป็นเรื่องดี เฉาเชาจึงเข้าเฝ้ากราบทูลขอให้เซี่ยนตี้เสด็จไปประทับที่สี่ว์ชางเพื่อไม่ต้องเผชิญกับการขาดเสบียงอีก เซี่ยนตี้ไม่อาจไม่ยอมตาม ขุนนางทั้งหลายก็กลัวเฉาเชาจึงมิกล้ามีความเห็นเป็นอื่น หลังจากเฉาเชาไปถึงสี่ว์ชางก็สร้างพระราชวังและศาลบรรพจักรพรรดิ เซี่ยนตี้ตั้งเฉาเชาเป็นแม่ทัพใหญ่ บรรดาศักดิ์เป็นอู่ผิงโหว เซี่ยนตี้เพิ่งพ้นจากมือหลี่เจ๋ว์และกัวซื่อก็มาตกอยู่ในมือเฉาเชา ใช้ชีวิตในฐานะหุ่นเชิดต่อไป

หยางเปียวเห็นเฉาเชากุมอำนาจเบ็ดเสร็จก็ขอลาออกจากตำแหน่งไท่เว่ยและจากไป เฉาเชาตั้งต้นเป็นตำแหน่งซือคงอีกตำแหน่ง ควบคุมขุนนางต่างๆ เซี่ยนตี้ไม่ยินยอมเป็นหุ่นเชิด จึงเขียนพระราชโองการลับให้ต่งเฉิงนำออกไป ให้หลิวเป้ย(เล่าปี่) คอยช่วยอยู่ภายนอก ต่งเฉิงกับหวางฝูคอยรับอยู่ภายใน หาโอกาสฆ่าเฉาเชา ไหนเลยจะทราบความแตก เฉาเชาจับตัวต่งแงและพวกไปขังไว้ในคุก เฉาเชาถือกระบี่เดินเข้าวังมาด้วยความโกรธ ให้เซี่ยนตี้ส่งตัวพระสนมต่งบุตรีของต่งเฉิงซึ่งเป็นพระสนมตำแหน่งกุ้ยเหรินออกมา เซี่ยนตี้กำลังนั่งสนทนากับฝูฮองเฮา กล่าวถึงเรื่องเฉาเชายึดอำนาจ อดถอนใจกันมิได้ บัดดลนั้นเฉาเชาถือกระบี่พุ่งเข้ามา สีหน้าโกรธเกรี้ยว ทั้งสองต่างตกพระทัย เฉาเชาเอ่ยปากว่า “ต่งเฉิงคิดคดกล้าเป็นกบฏ ขอฝ่าบาทลงอาญาในทันใด” เซี่ยนตี้ตรัสว่า “ต่งเฉิงเป็นพระญาติฝ่ายในซ้ำมีความชอบ จะกล้าเป็นกบฏหรือ? ” โจโฉทูลว่า “กระหม่อมรับเสด็จพระองค์มาถึงตอนนี้ มิมีที่ใดผิดต่อฝ่าบาท ต่งเฉิงถือตนว่าเป็นพระญาติฝ่ายใน คิดสังหารกระหม่อม หากกระหม่อมตายไป เกรงจะเดือดร้อนถึงฝ่าบาท ยังมิใช่การกบฏดอกหรือพ่ะย่ะค่ะ? ” เซี่ยนตี้ตรัสถามว่า “มีหลักฐานแน่ชัดหรือไม่? ” เฉาเชาถลึงตลากล่าวเสียงโกรธแค้นว่า “หลักฐานแน่ชัด หาใช่กระหม่อมใส่ความไม่ ฝ่าบาทปกป้องต่งเฉิง หรือทรงสั่งให้มันฆ่ากระหม่อม? ” เดิมเซี่ยนตี้ก็มีราชโองการลับให้ต่งเฉิงอยู่แล้ว ใจอดนึกกลัวมิได้ ได้แต่ตรัสว่า “ต่งเฉิงมีความผิด ควรลงโทษตามกฏหมาย” เฉาเชากล่าวเสียงดังว่า “ยังมีบุตรีต่งเฉิงถวายการรับใช้อยู่ในวัง ต้องให้ลงโทษตกตายตามกันพ่ะย่ะค่ะ” กล่าวจบก็ให้องครักษ์ไปจับตัวต่งกุ้ยเหริน เซี่ยนตี้กรรแสงตรัสว่า “ต่งกุ้ยเหรินมีครรภ์อยู่หลายเดือนแล้ว รอให้นางคลอดก่อนค่อยลงอาญาเถิด” เฉาเชากล่าวด้วยความขุ่นเคืองว่า “กระหม่อมไม่สนว่านางจะคลอดแล้วหรือไม่ ต่อให้คลอดแล้ว ก็ต้องฆ่าให้ตายตกตามกัน มิให้ทิ้งพืชพันธุ์ไว้ล้างแค้นให้มารดาภายหลัง” เซี่ยนตี้ได้ฟังก็ตกพระทัยจนหลั่งพระเสโททั่วพระวรกาย ไม่อาจตรัสวาจาใด เฉาเชาสั่งให้องครักษ์ลากตัวต่งกุ้ยเหรินออกไป เซี่ยนตี้ร้อนพระทัยตรัสกับเฉาเชาว่า “ท่านเฉา หากท่านจะช่วยค้ำจุนข้า ก็อย่าได้ทำเกินไปนัก มิฉะนั้นไม่สู้ทิ้งข้าเสีย” เฉาเชาไม่ฟัง หันศีรษะเดินออกไปนอกวัง สั่งให้องครักษ์รัดคอต่งกุ้ยเหรินตาย ต่งเฉิง หวางฝูและพวกถูกประหารด้วยการตัดศีรษะประหารสามชั่วโคตร

ในปีนี้เอง (ปีที่ 5 แห่งรัชศกเจี้ยนอัน ค.ศ.200) กองทัพของเฉาเชากับหยวนส้าวรบพุ่งกันที่กวานตู้ เฉาเชาใช้กำลังน้อยกว่าเอาชัยหยวนส้าว ได้แผ่นดินภาคเหนือกว้างใหญ่ เป็นรากฐานให้กับการรวมภาคเหนือให้เป็นเอกภาพ นับจากนั้น เฉาเชาก็ค่อยๆ ทยอยยึดหัวเมืองภาคเหนือได้ พอถึงปีที่ 12 แห่งรัชศกเจี้ยนอัน เผ่าอูหวนยอมสวามิภักดิ์ ภาคเหนือเป็นเอกภาพ เดือน 6 ปีต่อมา เฉาเชายกเลิกตำแหน่งสามมหามนตรี ตั้งตำแหน่งเฉิงเซี่ยง (อัครมหาเสนาบดี) อี้ว์สื่อต้าฟู (มนตรีตรวจสอบ) เฉาเชารั้งตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี เดือน 7 เฉาเชายกทัพลงใต้ แพ้กองทัพรวมกำลังของซุนเฉวียน (ซุนกวน) กับหลิวเป้ยในยุทธนาวีที่ชื่อปี้ (เซ็กเพ็ก) แผ่นดินตกอยู่ในสภาพสามกลุ่มอำนาจประชันกัน ปีที่ 18 แห่งรัชศกเจี้ยนอัน เฉาเชาตั้งบรรดาศักดิ์ให้ตนเป็นเว่ยกง รับเครื่องยศเก้าประการอันเป็นชั้นสูงสุด

ย้อนไปถึงเหตุการณ์หลังจากต่งกุ้ยเหรินถูกเฉาเชาฆ่าตายฝูฮองเฮาก็ไม่สบายพระทัย เคยเขียนจดหมายหาฝูหวาน ประนามความชั่วของเฉาเชาและขอให้ฝูหวานหาทางกำจัดเฉาเชา แม้ฝูหวานจะเคยเป็นแม่ทัพ แต่นิสัยเรียบง่าย ไม่ยินดีจะแย่งอำนาจกับเฉาเชา หลังได้รับจดหมายก็มิได้กระทำการใด ตอนที่เฉาเชาตั้งตนเป็นเว่ยกง ฝูหวานก็ตายไปสามสี่ปีแล้ว เฉาเชามีบุตรีสามนางจึงถวายให้กับเซี่ยนตี้[13]ต่อมา เซี่ยนตี้ตั้งพวกนางเป็นพระสนมตำแหน่งกุ้ยเหริน พอถึงปีที่ 19 รัชศกเจี้ยนอัน (ค.ศ.214) มีคนรับใช้ตระกูลฝูผู้หนึ่งเอาจดหมายที่ฝูฮองเฮาเคยเขียนถึงฝูหวานไปให้เฉาเชา เฉาเชาโกรธมาก เข้าวังไปบังคับให้เซี่ยนตี้ถอดฮองเฮาออก เซี่ยนตี้ลังเลพระทัย ไม่อาจหักใจทำเช่นนั้น เฉาเชาไม่รอเซี่ยนตี้มีพระราชานุญาต ก็สั่งให้เสนาบดีหฺวาซินร่างราชโองการถอดฝูฮองเฮา และบังคับให้เซี่ยนตี้ประทับตราหยก ฝูฮองเฮาได้พระราชโองการ ขณะจะย้ายออกไปจากวังใน ก็ได้ยินเสียงคนอึกทึก ที่แท้หฺวาซินพาคนมาจับฮองเฮา ฝูฮองเฮาตระหนกจนรีบซ่อนตนไปในช่องกำแพงวัง แต่สุดท้ายก็ถูกหฺวาซินจับได้ หฺวาซินจิกพระเกศานางแล้วกระชากดึงไปยังตำหนักด้านนอก เซี่ยนตี้กำลังประทับอยู่กับซีลี่ว์ซึ่งเป็นมนตรีตรวจสอบ พอเห็นนางผมเผ้าสยาย เปลือยเท้าเปล่า สภาพน่าเวทนา ก็อดหลั่งน้ำพระเนตรไม่ได้ ฝูฮองเฮากรรแสงทูลเซี่ยนตี้ว่า “หม่อมฉันไม่อาจมีชีวิตรอดแล้วจริงๆ หรือเพคะ? ” เซี่ยนตี้ถอนพระทัยตอบว่า “ข้าก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะรอดได้ถึงวันไหน! ” ตรัสจบก็หันมาตรัสกลับซีลี่ว์ว่า “ท่านซี ใต้ฟ้ามีเรื่องเช่นนี้จริงหรือ? ” หฺวาซินไม่พูดพล่ามทำเพลง ลากตัวฝูฮองเฮาไปขังไว้ในคุก ท้ายสุดฝูฮองเฮาก็สิ้นพระชนม์ในคุกนั่นเอง พระโอรสที่ประสูติจากฝูฮองเฮาทั้งสองพระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยยาพิษ ตระกูลฝูถูกประหารไปร้อยกว่าคน เดือนอ้ายปีที่ 20 แห่งรัชศก เฉาเชาตั้งเฉาเจี๋ยบุตรีคนรองของตนเป็นฮองเฮาในพระเจ้าฮั่นเซี่ยนตี้

 

เฉาพีแย่งบัลลังก์ฮั่น

ปีที่ 25 แห่งรัชศกเจี้ยนอัน (ค.ศ.220) เฉาเชาซึ่งต่อมาตั้งตนเป็นเว่ยหวางหรืออ๋องแห่งแคว้นเว่ยป่วยตาย เฉาพีบุตรชายสืบบรรดาศักดิ์ต่อเป็นเว่ยหวาง เซี่ยนตี้นึกว่าหลังเฉาเชาตายแล้วตนเองจะได้บริหารราชกิจ เปลี่ยนปีที่ 25 แห่งรัชศกเจี้ยนอันเป็นปีที่ 1 แห่งรัชศกเหยียนคัง ไหนเลยจะทราบว่าเฉาผีร้ายกาจกว่าบิดา เฉาพีเห็นว่าเป็นเวลาเหมาะที่จะแย่งบัลลังก์ฮั่นแล้ว จึงให้คนไปสร้างเหตุการณ์มงคลต่างๆ มา เพื่อบอกว่าชะตาราชวงศ์ฮั่นสิ้นสูญแล้ว ราชวงศ์เว่ยจะมาแทนที่ เฉาพียังสั่งให้หฺวาซินและพวกไปที่นครสี่ว์ตูและบังคับให้เซี่ยนตี้สละราชย์ เซี่ยนตี้ตื่นตระหนกน้ำพระเนตรไหล ขณะกำลังลังเลก็ได้เห็นทหารแต่งตัวพร้อมรบกรูมาจากข้างนอก เซี่ยนตี้รีบลุกขึ้นหันกายจะหนีไปยังตำหนักด้านใน หฺวาซินก็ไล่ตามไป พอถึงตำหนักฮองเฮา เฉาฮองเฮาได้ยินเสียงก็ออกมา เห็นเซี่ยนตี้ลุกลี้ลุกลนก็ถามว่าเกิดเรื่องใดขึ้น เซี่ยนตี้กรรแสงแล้วตรัสว่า “พี่ชายเจ้าจะแย่งบัลลังก์ข้า” เฉาฮองเฮาได้ฟังก็ขมวดคิ้ว อ้อมพระองค์เซี่ยนตี้ ขวางหฺวาซินและพวกไว้ บริภาษว่า “พวกเจ้าหวังได้ดีมียศศักดิ์ กล้าเป็นกบฏ ลองคิดดูบิดาข้ามีความชอบสูงส่ง ยังรับใช้ราชวงศ์ฮั่นในฐานะขุนนาง พี่ชายข้าเพิ่งเป็นเว่ยหวางได้ไม่กี่วันก็คิดชิงบัลลังก์ เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ พวกเจ้าต้องเป็นคนยุแยงแน่! ” เนื่องจากเฉาฮองเฮาเป็นน้องสาวของเฉาพี หฺวาซินไม่กล้าทำอะไรนาง จึงได้แต่ถอยจากไปก่อน

ผ่านไปหลายวัน ได้ยินว่าเฉาพีจะมาถึงนครสี่ว์ตูแล้ว หฺวาซินและพวกก็ประชุมขุนนาง ขอให้เซี่ยนตี้ออกมา เซี่ยนตี้ถูกบังคับจึงจำต้องเสด็จออก หฺวาซินนำพระราชโองการสละราชย์ที่ร่างไว้แล้วมาบังคับให้เซี่ยนตี้ประกาศ เซี่ยนตี้รับปากคลุมเครือ ส่งมนตรีตรวจสอบจางอินนำราชโองการไปให้ให้เฉาพี ขณะนั้นเฉาพีอยู่ที่ชีว์หลี พอได้ราชโองการก็ดีใจ แต่เปลือกนอกแสร้งทำเป็นไม่ยอมรับ มีหนังสือทูลปฏิเสธกลับ จางอินกลับมารายงาน หฺวาซินรีบทำหนังสือไปขอให้เฉาพีเสวยราชย์ ทางหนึ่งก็บังคับให้เซี่ยนตี้มอบตราแผ่นดินออกมา เซี่ยนตี้หลั่งน้ำพระเนตรตรัสว่า “ตราหยกอยู่ที่ฮองเฮา ไม่ได้อยู่กับข้า” หฺวาซินไปขอตราหยกจากเฉาฮองเฮา แต่เฉาฮองเฮาไม่ยอมให้ หฺวาซินรายงานเรื่องนี้ให้เฉาพีทราบ เฉาพีจึงส่งเฉาหงกับเฉาซิวนำกำลังเข้าวังมาชิงตราหยก เฉาฮองเฮาโยนตราหยกไปนอกหน้าต่าง กันแสงแล้วตรัสว่า “สวรรค์จะไม่ปกป้องท่านอีก!” เฉาหงได้ตราหยก ก็ส่งจางชิงนำตราหยกพร้อมด้วยพระราชโองการฉบับที่สองไปให้เฉาพี เฉาพีได้รับตราหยกกับพระราชโองการ ก็ยังไม่ยอมรับอีก สั่งให้จางอินนำตราหยกกลับมา เซี่ยนตี้จำต้องมีพระราชโองการเป็นฉบับที่สาม คราวนี้เฉาพีจึงยอมรับปากครองบัลลังก์ เดือน 10 ปีเดียวกันนั้น เฉาพีประกอบพิธีรับพระราชบัลลังก์ ณ ศาลาฝานหยาง รับตราแผ่นดิน ขุนนางทั้งบุ๋นและบู๊ร่วมกันถวายพระพร จากนั้นก็เสด็จประทับนครสี่ว์ตู เปลี่ยนปีที่ 1 แห่งรัชศกเจี้ยนคังเป็นปีที่ 1 แห่งรัชศกหวงชู เปลี่ยนนามแผ่นดินเป็นเว่ย ถอดพระเจ้าฮั่นเซี่ยนตี้เป็นซานหยางกงเฉาฮองเฮาเป็นซานหยางกงฟูเหริน (ฮูหยิน) ให้ย้ายออกจากวังไป แต่ยังอนุญาตให้ใช้พิธีและดนตรีตามธรรมเนียมโอรสสวรรค์ ถือว่าปฏิบัติต่อเซี่ยนตี้อย่างดี

สิบสี่ปีให้หลัง คือปีที่ 2 แห่งรัชศกชิงหลง (ค.ศ.234) ราชวงศ์เว่ย เซี่ยนตี้สวรรคต พระชนมพรรษาห้าสิบสี่พรรษา ฝังที่สุสานซ่านหลิงด้วยธรรมเนียมโอรสสวรรค์ราชวงศ์ฮั่น ถวายพระนามหลังสวรรคตเป็นเซี่ยวเซี่ยนหวงตี้[14]

ปลายราชวงศ์ฮั่น หลังผ่านกบฏโจรโพกผ้าเหลือง อำนาจส่วนกลางอ่อนแรงลงมาก ผู้มีอิทธิพลในแต่ละท้องที่ต่างมีกองกำลังของตน เกิดภาวะจลาจลรบพุ่งชิงแผ่นดิน ค.ศ.189 ฮั่นเซี่ยนตี้หลิวเสียได้รับการแต่งตั้งจากต่งจั๋วเป็นฮ่องเต้ในวัยเก้าพรรษา ค.ศ.220 ถูกเฉาพีถอดออก อยู่ในราชสมบัติสามสิบกว่าปี ตลอดระยะเวลาสามสิบกว่าปีนี้ เซี่ยนตี้เป็นฮ่องเต้แต่เพียงในนาม เป็นเพียงป้ายแผ่นหนึ่งที่บรรดาขุนศึกทั้งหลายใช้เป็นทุนทางการเมืองในยุคจลาจล เป็นเพียงฮ่องเต้หุ่นเชิดอย่างแท้จริง เมื่อแรกเสวยราชย์ ต่งจั๋วกุมอำนาจแผ่นดิน หลังจากต่งจั๋วตาย หลี่เจ๋ว์กับกัวซื่อแก่งแย่งกันเอง เซี่ยนตี้กลายเป็นเสมือนสมบัติที่แย่งชิงกันไปมาในระหว่างสงคราม พอหนีกลับมาลั่วหยางก็มาตกอยู่ในมือเฉาเชาอีก กลายเป็นเครื่องมือให้เฉาเชา “เชิดฮ่องเต้บัญชาท้าวพระยาหัวเมือง” หลังเฉาเชาตาย เซี่ยนตี้นึกว่าจะได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก แต่กลับถูกเฉาพีบีบบังคับให้สละราชย์ แต่อันที่จริงเซี่ยนตี้มิใช่คนโง่เขลาไร้สามารถ ตัวอย่างปีที่ 1 แห่งรัชศกซิงผิง เขตซานฝูฝนไม่ตกอยู่หลายเดือน ข้าวสารหนึ่งหู[15]ราคาสูงถึงห้าแสนอีแปะเซี่ยนตี้ให้สื่อโหวเหวินซึ่งเป็นคนสนิทเอาข้าวและถั่วเหลืองจากคลังหลวงไปต้มโจ๊กแจกราษฎรยากไร้ แต่ก็ยังมีคนอดตายอยู่มาก เซี่ยนตี้สงสัยว่าจะมีนอกใน จึงให้คนเอาข้าวกับถั่วเหลืองจำนวนห้าเซิงออกมาต้มโจ๊กให้ดู ปรากฏว่าได้เพียงสองอ่าง เซี่ยนตี้จึงให้โบยสื่อโหวเหวินด้วยพลองห้าสิบที ในพงศาวดารโฮ่วฮั่นซู บรรพที่ว่าด้วยพระราชประวัติเซี่ยวเซี่ยนตี้เขียนว่า “เซี่ยนตี้ประสูติผิดยุคพระองค์ระหกระเหินบ้านเมืองทุกข์เข็ญ” เห็นว่าเซี่ยนตี้เกิดมาผิดกาล ตนเองต้องเร่ร่อนย้ายไปมา บ้านเมืองก็มีแต่ทุกข์เข็ญไม่หยุดไม่หย่อน วาจานี้มีเหตุผล ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น เซี่ยนตี้เองยังยากจะกุมชะตาพระองค์เองได้ จะเอ่ยถึงการบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างไร?

 

[1]ชื่อบุคคลและสถานที่ในหนังสือฉบับนี้ถอดตามเสียงจีนกลาง สำหรับชื่อที่ปรากฏในนิยายอิงพงศาวดารเรื่องสามก๊ก จะวงเล็บสำเนียงฮกเกี้ยนตามที่ปรากฏในสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ไว้หลังชื่อ โดยระบุไว้เฉพาะครั้งแรกที่เอ่ยถึงชื่อนั้นๆ

[2]สามก๊กไทยเรียกหองจูเปียน หองจูเป็นภาษาฮกเกี้ยน ภาษาจีนกลางคือหวงจื่อ แปลว่าพระโอรส เปียนเป็นภาษาฮกเกี้ยน เปี้ยนเป็นภาษาจีนกลาง

[3]ฮั่นหลิงตี้ต้องการทอนอำนาจการทหารของแม่ทัพใหญ่เหอจิ้น จึงตั้งกองกำลังทหารส่วนพระองค์ขึ้น เซี่ยวเว่ยเป็นตำแหน่งผู้บังคับกอง มีทั้งสิ้นแปดคนรวมเรียกว่าแปดเซี่ยวเว่ยแห่งสวนตะวันตก ซ่างจวินเซี่ยวเว่ยเป็นหัวหน้าผู้บังคับกองทหารทั้งหมด คนสำคัญในเรื่องสามก๊กที่อยู่ในเซี่ยวเว่ยทั้งแปดนี้ยังมีหยวนส้าว (อ้วนเสี้ยว) และเฉาเชา (โจโฉ)

[4]พระนางต่งเป็นพระมารดาของฮั่นหลิงตี้เป็นภรรยาของเจี๋ยตู๋ถิงโหวหลิวฉาง เจี๋ยตู๋ถิงเป็นเมืองส่วยขนาดเล็ก ก่อนที่พระเจ้าฮั่นหลิงตี้หลิวหงจะได้เสวยราชย์ ได้สืบบรรดาศักดิ์เป็นต่อจากบิดา ต่อมาพระเจ้าฮั่นหวนตี้สวรรคตโดยไม่มีรัชทายาท หลิวหงซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานลุงได้ขึ้นครองราชย์ต่อ หลิวหงยกมารดาคือนางต่งเป็นไทเฮา

[5]ตำแหน่งขุนนางในแต่ละสมัยไม่เหมือนกัน สำหรับในสมัยฮั่นตะวันออก สามมหามนตรีประกอบด้วยซือถู ไท่เว่ย ซือคง ซือถูกำกับจารีตประเพณี การศึกษา กฎหมาย การต่างประเทศ   ไท่เว่ยกำกับการทหาร ซือคงกำกับการก่อสร้าง เศรษฐกิจ การเพาะปลูก การประมง

[6]ต่งจั๋วเป็นชาวเหลียงโจว

[7]หมายถึงต่งจั๋ว ต่งจั๋วตั้งตัวเองเป็นเซี่ยงกว๋อ (อัครมหาเสนาบดี) บรรดาศักดิ์เป็นเหมยโหว แล้วยังตั้งตัวเองเป็นไท่ซือเป็นตำแหน่งเสริมให้ตนเองอีก

[8]แม่ทัพเชอจี้เป็นตำแหน่งการทหารชั้นสูงรองจากแม่ทัพใหญ่และแม่ทัพเพี่ยวจี่ สูงกว่าแม่ทัพเว่ย แม่ทัพหน้า แม่ทัพซ้าย แม่ทัพขวา แม่ทัพหลัง

[9]เผ่าอนารยชนทางเหนือของจีน

[10]1 โต่วคือ 10 ลิตร

[11]ต้นฉบับเขียนว่าฝูหวานเป็นพี่ชายของฮองเฮา ผู้แปลสอบทานกับพงศาวดารโฮ่วฮั่นซู บรรพพระประวัติฮองเฮาแล้วแก้ไขเป็นบิดาตามบันทึกประวัติศาสตร์

[12]เกอเป็นอาวุธโบราณ ด้ามทำจากไม้ ปลายเป็นโลหะมีคมเหมือนปากไก่ยื่นออกไป ส่วนปลายใช้จิกทำลาย ส่วนคมด้านในใช้ตวัดตัดได้

[13]บุตรีทั้งสามของโจโฉคือเฉาเซี่ยน เฉาเจี๋ยและเฉาหฺวา คนเล็กอายุยังน้อย จึงส่งคนโตและคนรองเข้ามาก่อน ต่อมาจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นกุ้ยเหรินพร้อมกันทั้งสามคน หลังฝูฮองเฮาสวรรคต เฉาเชาให้ตั้งเฉาเจี๋ยเป็นฮองเฮาแทน ต้นฉบับเขียนว่าเฉาเจี๋ยเป็นบุตรีคนที่สาม ฉบับแปลแก้ไขเป็นคนรองตามจดหมายเหตุสามก๊ก

[14]เซี่ยวคือกตัญญูราชวงศ์ฮั่นยกย่องคุณธรรมกตัญญู ส่วนเซี่ยนนี้ โดยทั่วไปมักอธิบายว่าหมายถึงยกให้ ถวายให้ หมายถึงการที่ฮั่นเซี่ยนตี้ต้องยกบัลลังก์ให้ราชวงศ์เว่ย แต่ก็มีผู้ตีความต่างกันว่าเซี่ยนมีอีกความหมายคือ “เสียน” ซึ่งแปลว่าประเสริฐ หมายถึงมีคุณธรรมและความสามารถ

[15]หูเป็นหน่วยชั่งตวงวัดโบราณ เดิมหนึ่งหูเท่ากับหนึ่งตั้น หนึ่งตั้นหรือหนึ่งหูเท่ากับสิบโต่ว คือหนึ่งร้อยยี่สิบจิน ตั้งแต่ราชวงศ์ซ่ง เปลี่ยนให้หนึ่งหูเป็นห้าโต่ว หนึ่งตั้นเท่ากับสองหู

Top Hit


Special Deal