(* กดเพื่อเปลี่ยนสีพื้นหลัง)

new

“ผู้พิชิตดาราจักร” : พลังสร้างสรรค์ยิ่งใหญ่ของ “หวงอี้”

“เคล็ดลับของนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ ก็คือ ความสามารถในการเพิ่มคุณค่าให้เรื่องราวธรรมดาดาดดื่น ยกระดับกลายเป็นนวนิยายที่ยิ่งใหญ่ยืนยง”  นิยายกำลังภายในก่อนหน้าการถือกำเนิดของ “มังกรหยก” ย่อมได้รับการดูแคลนจากปวงปราชญ์และปัญญาชนทั้งหลาย หากทว่า “กิมย้ง” กลับสามารถผนวกคุณค่ายิ่งใหญ่ทั้งในเรื่องคุณธรรมน้ำมิตร ความมีเหตุมีผลลงตัวของเรื่องราว และศิลปะถ้อยคำที่งดงามวิจิตร เข้าไปใน “นิยายกำลังภายใน” จึงทำให้ยุทธจักรกำลังภายในเดินทางออกจากกาลเวลาอันมืดมน เข้าสู่ยุคทองที่รุ่งโรจน์เรืองรอง  ขณะเดียวกัน “โกวเล้ง” ได้ขยายขอบเขตของนิยายกำลังภายในจากการต่อสู้ด้วยพลังยุทธ์และอาวุธคมดาบ ให้เข้าสู่ขอบเขตขั้น “ปรัชญา” ที่แสนลึกซึ้งตรึงตราในความเป็นมนุษย์ “หวงอี้” ได้ใส่มูลค่าเพิ่มสูงส่งให้นิยายกำลังภายใน โดยเฉพาะความสมจริงในการต่อสู้ของตัวละครที่ต้องเคารพกฏเกณฑ์และข้อจำกัดของบริบทยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ ชัยชนะหรือพ่ายแพ้ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญและโชคช่วยอีกต่อไป แต่ต้องมาจากการคิดอ่านวางแผนและกำหนดกลยุทธ์อย่างรอบคอบรัดกุม และที่สร้างสีสันที่สุดก็คือ การเล่นกับช่องว่างทางประวัติศาสตร์ โดยทำให้บุคคลจริงในประวัติศาสตร์สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับตัวละครที่ผู้แต่งสร้างขึ้นมาได้อย่างล้ำลึกลงตัว   อย่างไรก็ตาม ภายหลังความยิ่งใหญ่ของปรมาจารย์ทั้งสามท่านนี้แล้ว โลกกำลังภายในยังไม่อาจค้นหาพลังสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ออกไปได้ แม้ว่า “หลงเหยิน” จะรังสรรค์ “อวสานจิ๋นซี” ที่เป็นภาคต่อจาก “เจาะเวลาหาจิ๋นซี” ของปรมาจารย์ หวงอี้ ได้สำเร็จ แต่คุณค่าและความนิยมยังไม่อาจเทียบชั้นเชิงเหลี่ยมคูของท่านปรมาจารย์ หวงอี้ได้  ที่น่าตลกยิ่งกว่านั้น คือ “ผู้พิชิตดาราจักร” ที่เป็นเพียง “นิยายวิทยาศาสตร์” ของหวงอี้ กลับจะมีคุณค่าที่น่าสนใจกว่า “นิยายกำลังภายใน” ของหลงเหยินอีกด้วย  โดยรูปแบบและเนื้อหาของนิยายวิทยาศาสตร์ อาจดูเหมือนจะกีดขวางพลังสร้างสรรค์ของหวงอี้ ที่เคยวาดลวดลายในเชิงกำลังภายในอย่างระบือลือลั่น แต่เมื่ออ่าน “ผู้พิชิตดาราจักร” อย่างไตร่ตรองลึกซึ้งแล้ว ย่อมค้นพบคุณค่าสาระที่แฝงอยู่ในนิยายกำลังภายในของหวงอี้อย่างครบถ้วนกระบวนความ  “ผู้พิชิตดาราจักร” ที่ถูกนำไปเทียบเคียงกับ Star Wars มหากาพย์ยิ่งใหญ่ของอเมริกาชนนั้น กลับพบว่ามีความแตกต่างในรายละเอียดหลายประการ แต่สิ่งที่สำคัญสุด คือ มุมมองด้าน “คุณธรรม”  ทั้งสตาร์วอร์ส มังกรหยก และฤทธิ์มีดสั้น ล้วนแล้วแต่ให้คุณค่ากับ “พฤติกรรม” ของพระเอกว่ามี “คุณธรรม” สูงส่งกว่าผู้ร้าย แน่นอนว่ามหากาพย์ทั้งสามเรื่องนี้ย่อมมีความลุ่มลึกเพียงพอที่จะให้ฝ่ายพระเอกมีความบกพร่องเรื่องคุณธรรมในบางระดับ แต่โดยภาพรวมแล้วจะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างความดีของฝ่ายพระเอกกับความเลวของฝ่ายผู้ร้าย  ขณะที่ผู้พิชิตดาราจักร มังกรคู่สู้สิบทิศ และจอมคนแผ่นดินเดือด จะประเมินคุณค่าเชิงคุณธรรมของฝ่ายพระเอกไม่โดดเด่นแตกต่างจากฝ่ายผู้ร้ายมากมายนัก  ใช่หรือไม่ว่า ในโลกความจริงนับจากอดีตจวบจนปัจจุบัน “พระเอก” และ “ผู้ร้าย” อาจเป็นเพียงความแตกต่างของรสนิยมและมุมมองทางสังคมในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น  “สหพันธ์ทางช้างเผือก” ที่มีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้ “สถาบันสถาปนา” ในเรื่อง Foundation ของไอแซค อาสิมอฟ แต่การถูกท้าทายโดยกลุ่มดาวอนารยชนทั้งหลายนั้น กลับมีความแตกต่างกัน แน่นอนว่า การต่อสู้ระหว่างจักรวรรดิกับอนารยชนทั้งหลายย่อมหนีไม่พ้นเรื่องราวของ “ผลประโยชน์” หรือไม่ก็เรื่อง “อุดมการณ์คุณธรรม” แต่กระนั้น “หวงอี้” ยังได้ประเมินความขัดแย้งครั้งนี้ลึกลงไปถึงระดับ “ปรัชญา” โดยเฉพาะการมองโลกและคุณค่าความหมายของชีวิตที่แตกต่างกัน  “ในช่วงเวลาครั้งบรรพกาลถึงแม้ชีวิตกระชั้นกว่ามาก ทั้งยังต้องเผชิญกับพิบัติภัยจากดินฟ้า โรคร้ายแรงและไฟสงคราม แต่ก็มีชีวิตชีวากว่าเวลานี้มากนัก ผู้คนไม่มีเวลาสืบค้นปัญหาและความหมายของการมีชีวิตอยู่ พวกเขาแสวงหาทรัพย์สมบัติและความรัก ยื้อแย่งช่วงชิงโดยไม่เลือกวิธีที่ใช้ อยู่ท่ามกลางความสำเร็จและล้มเหลวโดยไม่หยุดหย่อน ชีวิตอยู่ในช่วงร้อนแรงที่สุด พวกเขาไม่นึกถึงความสมบูรณ์พร้อม เพียงหวังว่าไม่เสียทีที่ถือกำเนิดเกิดมา แม้เป็นเวลาสั้นๆ เพียงร้อยปีก็ตาม...          ...เมื่อตอนแรกที่ฉันค้นพบเคล็ดลับวิชาสังเคราะห์ชีวิต ฉันเข้าใจว่าหลังจากที่พิชิตปัญหาของการเกิดแก่เจ็บตาย พวกเราจะมีเวลาอันยาวนานบรรลุความฝันนานัปการ แต่แล้วฉันพบว่าตัวเองผิดแล้ว หลังจากขึ้นเป็นหัวหน้าศูนย์วิจัย ฉันแทบครอบครองทุกสิ่ง แต่ว่าฉันไม่มีความสุข ไม่เข้าใจว่าเมื่อทุกอย่างสมบูรณ์พูนสุข ทำไมฉันยังรู้สึกว่าขาดอะไรไป”   (ผู้พิชิตดาราจักร เล่ม 1 หน้า 179) ใช่หรือไม่ว่า ปรัชญาวิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยมที่ “สหพันธ์ทางช้างเผือก” สถาปนาไปทั่วจักรวาลนั้น อาจหยิบยื่นความสุขต่อมนุษย์น้อยกว่าปรัชญาแห่งอารมณ์และความเร้าใจของมนุษย์ชาติในห้วงบรรพกาล                   ที่แยบยลกว่านั้นคือ การต่อสู้ระหว่างความงามลุ่มลึกของอารยชนกับความงามดิบเถื่อนของอนารยชน กลับดำรงคงอยู่ในตัวพระเอกของเรื่องได้อย่างลึกซึ้งกลมกล่อมยิ่ง  “ฟางโจว” คือ ชายโชคร้ายที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ในท่ามกลางความโหดร้ายของ “ดาววิหคเพลิง” ที่นอกจากต้องต่อสู้กับเปลวเพลิงที่ร้อนแรงแผดเผาแล้ว ยังต้องคอยแสวงหาหยดน้ำเพื่อเพิ่มพลังและเติมต่อชีวิต อีกทั้งยังต้องดิ้นรนหลบหลีกการปะทุระเบิดของพื้นแผ่นดิน ทั้งหมดได้ทำให้ “ฟางโจว” ต้องคิดค้นกลยุทธ์การดำเนินชีวิตที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อจะอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมดุจดั่งนรกเช่นนั้น   ดังนั้น เมื่อสามารถหนีรอดจาก “ดาววิหคเพลิง” และมาเผชิญกับเจ้าหน้าสาวสวยของ “สหพันธ์ทางช้างเผือก” สิ่งแรกที่ “ฟางโจว” ร้องขอจากหญิงสาวเหล่านั้นก็คือ การผสมพันธุ์ ซึ่งย่อมไม่ใช่สิ่งเลวร้ายและอับอายในอารยธรรมของดาววิหคเพลิง แต่ถือเป็นเงื่อนไขจำเป็นเพื่อการอยู่รอดและสืบเผ่าพันธ์ของมนุษยชาติในดวงดาวที่โหดร้ายเยี่ยงนี้ ยิ่งกว่านั้น “ฟางโจว” ยังถือว่าทุกความช่วยเหลือที่เขาจะหยิบยื่นให้ต่อคนอื่นนั้น จะต้องมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กลับมาเสมอ เพราะในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายนั้น การกระทำที่ไม่มีประโยชน์อาจหมายถึงการสูญเสียพลังงานและทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อใช้ในการอยู่รอด    อย่างไรก็ตาม “พลังจิตพิเศษ” ที่ช่วยทำให้ “ฟางโจว” อยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายป่าเถื่อนนั้น ยังกลับช่วยส่งเสริมให้ “ฟางโจว” เรียนรู้อารยธรรมที่ลุ่มลึกสุนทรีย์ของสหพันธ์ทางช้างเผือกได้อย่างรวดเร็ว “ฟางโจว” จึงรู้ว่าการผสมพันธุ์ที่เคยเป็นสิ่งจำเป็นในสภาพแวดล้อมของเขานั้น หากสามารถเติมเต็มด้วยคำหวานและความรักแล้วย่อมทำให้การผสมพันธ์นั้นยกระดับสู่การ “ร่วมรัก” และมีคุณค่าความหมายต่อจิตใจอันละเอียดอ่อนของมนุษย์ยิ่งขึ้น  การเห็นคุณค่าของสองแนวทางที่แตกต่างนี้ ได้ช่วยทำให้ “ฟางโจว” สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีความหมายสูงสุด ไปพ้นจากการกีดกันและแบ่งแยกของแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะเมื่อสามารถ “ข้ามพ้นและหลอมรวม” สองแนวทางที่แตกต่างนี้เข้าด้วยกันอย่างลงตัว   “ในห้วงจักรวาลไม่มีวัตถุใดที่สงบนิ่ง นับตั้งแต่ดวงดาว จนถึงระบบสุริยะ แม้กระทั่งจักรวาลต่างก็เคลื่อนไหว และขยับขยายตัว   นี่เป็นฟ้าดินแห่งความฝัน ปานประหนึ่งตำนานที่น่าลุ่มหลง  สายตาของเขากวาดสำรวจดวงดาวลักษณะต่างๆ ในทะเลดาวตลอดจนดาวเคราะห์ที่ถูกม่านเมฆบดบัง ดาวเคราะห์ยักษ์ เมฆก๊าซและกระจุกดาว ล้วนแล้วแต่สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้คน เมื่อเขาครุ่นคิดถึงสภาพความจริงเบื้องหน้า เฝ้าดูการเคลื่อนไหวที่ไม่หยุดนิ่ง การพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงราวปาฏิหาริย์ เขารู้สึกว่าหลุดพ้นจากข้อจำกัดและส่วนที่ขาดพร่องของมนุษยชาติ รู้สึกถึงความสุนทรีรมณ์ที่สั่นสะท้านจิตใจ  ความเป็นกับความตายรวมเป็นหนึ่งเดียว ความงามกับอัปลักษณ์เพียงเป็นด้านหน้ากับด้านหลังในเรื่องเดียวกัน ที่สุดแล้วมีแต่การดำรงคงอยู่”   (ผู้พิชิตดาราจักร เล่ม 1 หน้า 108)   ปรัชญาวิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยมที่มุ่งเอาชนะความตายและความเปลี่ยนแปลงนั้น กลับมีจุดอ่อนที่ความเร้าใจและความหมายของการดำรงอยู่ ขณะที่ปรัชญาที่เน้นการเอาตัวรอดและความตื่นเต้นเร้าใจนั้น ก็ละเลยการขบคิดใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะความสุนทรีรมณ์ลึกซึ้งในจิตใจ  นิยายวิทยาศาสตร์เล่มนี้ของ หวงอี้ จึงมีความลุ่มลึกของวิธีคิดและการต่อสู้ที่ไม่ต่างจากนิยายกำลังภายในสไตล์หวงอี้ ที่ทุกฝ่ายล้วนมีเหตุผลในการต่อสู้ช่วงชิงของตนเอง ขณะที่การเอาชนะจะต้องมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบท ไม่อาจหลุดลอยจากความเป็นจริงได้เลย  สิ่งสำคัญที่ทำให้ “นิยายวิทยาศาสตร์” ของหวงอี้ แตกต่างจากนิยายกำลังภายในของหวงอี้ ก็คือ ขอบเขตจินตนาการใหม่ เพราะนิยายกำลังภายในของหวงอี้นั้น ยังต้องยึดติดกับความจริงทางประวัติศาสตร์และบริบทของประเทศชาติเผ่าพันธุ์ แต่นิยายวิทยาศาสตร์นั้นสามารถก้าวล่วงไปถึงปรัชญาการดำรงอยู่ของมนุษย์และอารยธรรม จึงทำให้ผู้อ่านได้รับ “มูลค่าเพิ่ม” ที่แตกต่างสดใหม่ไปจากนิยายกำลังภายใน แน่นอนว่า การบรรจุ “ปรัชญา” เข้าไปในนิยายกำลังภายในสามารถทำได้ผ่านฝีมืออันเอกอุของปรมาจารย์โกวเล้ง แต่จุดอ่อนที่เกิดขึ้นคือ การละเลยบริบททางสังคมและอารยธรรม ขณะที่นิยายวิทยาศาสตร์ “ผู้พิชิตดาราจักร” ของหวงอี้นั้น สามารถผนวก “ปรัชญา” เข้ากับการต่อสู้ช่วงชิงและบริบทของอารยธรรมได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะเมื่อมนุษยชาติบรรลุความสมบูรณ์ทางวัตถุทุกอย่างแล้ว แต่กลับพบว่าตัวเองไม่มีความสุข จึงจำเป็นต้องค้นหาเข้าไปในธรรมชาติเดิมแท้ของมนุษย์ว่า “เกิดมาทำไม ต้องการสิ่งใด และอะไรคือคุณค่าความหมายสูงสุด”  บางที “นิยายวิทยาศาสตร์” ที่มนุษย์บรรลุความสมบูรณ์มั่งคั่งทุกอย่างแล้ว อาจไม่มีวันเกิดขึ้นในโลกความจริง แต่ใช่หรือไม่ว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาของอารยธรรมมนุษย์ ที่แม้จะมีความสมบูรณ์พูนสุขทางวัตถุไม่เท่าเทียบกับในเรื่อง “ผู้พิชิตดาราจักร” แต่กระนั้นมนุษย์ก็เริ่มเผชิญปัญหาเรื่อง “ความตื่นเต้นเร้าใจ” ในชีวิต และหากมนุษยชาติไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ เหตุการณ์แบบที่เกิดในต่างประเทศ ที่คนซึ่งต้องการความตื่นเต้นเร้าใจแม้เพียงชั่วครู่ ได้ลุกขึ้นมาประหัตประหารผู้อื่น และจบชีวิตตนเองตามไปด้วยนั้น อาจจะระบาดกลายเป็นแฟชั่นไปทั่วทุกมุมโลก ฤาอารยธรรมมนุษย์จะได้เดินมาถึง “ทางตัน” เสียแล้ว !   “ผู้พิชิตดาราจักร” ได้ชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามจากการขาดความเข้าใจในคุณค่าความหมายของชีวิตมนุษย์ไว้อย่างลึกซึ้งคมคายยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อมนุษย์ไม่สามารถจัดการกับ “ความสมบูรณ์พูนสุข” ทางวัตถุได้อย่างมีสติและปัญญา มนุษย์จึงต้องตกอยู่ในปัญหาเขาควายที่แก้ไม่ตก ด้านหนึ่งคือ “ความเบื่อหน่าย” เพราะไม่รู้วิธีจัดการกับความมั่งคั่งที่ล้นเหลือนั้นอย่างถูกต้อง กับอีกด้านหนึ่งคือ การละทิ้งความมั่งคั่งนั้น และออกไปแสวงหาความตื่นเต้นเร้าใจเพียงชั่วครู่ชั่วยาม จึงมีเพียงแต่ “ความรู้ลึกซึ้ง” ของคนอย่าง “ฟางโจว” เท่านั้น ที่จะช่วยไขปริศนาในการดำรงอยู่อย่างมีความหมายของมนุษยชาติได้อย่างลึกซึ้งแหลมคม เพื่อให้อารยธรรมของมนุษย์ในอนาคตข้างหน้าเดินไปสู่เส้นทางแห่งความสุขอันสว่างไสวเรืองรอง บทความจาก อาจารย์ เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ อาจารย์ประจำศูนย์ประชาคมอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยสยาม สามารถสั่งซื้อ ผู้พิชิตดาราจักร ได้ทาง > คลิก  

Top Hit


Special Deal