(* กดเพื่อเปลี่ยนสีพื้นหลัง)

ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ ชาติมังกร!! การล่มสลายของราชวงศ์

ตอนที่ 1

ยอดฝีมือในวงศิลป์ ผู้ไร้สามารถในวงการปกครอง...

พระเจ้าซ่งฮุ่ยจงแห่งราชวงศ์ซ่งเหนือจ้าวจี๋

 

“รุ่งเรืองเมืองหลวงสุดถวิล หมื่นลี้คามบดินทร์  วิมานโสภิณ เช้ายินมโหรี ค่ำสดับคีตา

เมืองว่างคนร้างจากลา กลางทรายวสันต์นิทรา บ้านอยู่ไหนหนา โศกาขลุ่ยบรรเลง

เป็นเพลงเหมยผกา”

 

บทกวีฉือ “เสน่ห์นัยน์” บทนี้ย้อนรำลึกถึงชีวิตฮ่องเต้อันหรูหราสูงศักดิ์ เสียดายเสียใจกับความเดียวดายรันทดทุกข์ยากในปัจจุบัน แปดร้อยกว่าปีก่อน บุรุษอายุครึ่งร้อยผู้หนึ่งได้ขับบทเพลงแห่งความคับแค้นนี้ระหว่างเดินทางไปสู่ภาคเหนือ ทอดตามองแว่นแคว้นเก่า น้ำตาหลั่งริน คนผู้นี้ก็คือฮ่องเต้องค์ที่แปดแห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ...ซ่งฮุยจงผู้ถูกชาวจินจับตัวไปเป็นเชลยยังเมืองอู่กว๋อแดนหันโจวแห่งอาณาจักรจิน

 

1. น้องสืบบัลลังก์ต่อแทนพี่ ต้นสมัยบริหารดีบ้านเมืองรุ่ง

 

เดือนอ้ายปีที่ 3 แห่งรัชศกหยวนฝูราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ.1100) พระเจ้าซ่งเจ๋อจงซึ่งพระชนมายุเพียงยี่สิบสี่พรรษาประชวรสวรรคต เมิ่งฮองเฮาพระมเหสีองค์แรกไม่เป็นที่โปรดปรานของซ่งเจ๋อจง ต่อมายังถูกถอดจากตำแหน่ง มีเพียงพระธิดา ไม่มีพระโอรส หลิวฮองเฮาซึ่งเป็นพระมเหสีองค์ต่อมาประสูติพระธิดาสองพระองค์ พระโอรสหนึ่งพระองค์ แต่พระโอรสสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ชันษาเพียงสามเดือน โอรสสวรรค์ไร้ทายาท ราชวงศ์ซ่งอันยิ่งใหญ่จะฝากไว้ในมือผู้ใด เป็นปัญหาใหญ่ของราชสำนัก เกิดเป็นความขัดแย้งภายในในเรื่องรัชทายาท

วันขึ้น 8 ค่ำ เดือนอ้ายปีที่ 3 แห่งรัชศกหยวนฝู โอรสสวรรค์ประชวรสวรรคต ขณะที่ทั้งราชสำนักซ่งไม่รู้จะยกใครขึ้นเสวยราชย์ต่อ เซี่ยงไทเฮาซึ่งเท่ากับเป็นผู้ปกครองสูงสุดในเวลานั้นก็เรียกประชุมขุนนางเพื่อหารือ พระนางกันแสงพลางตรัสกับเหล่าขุนนางว่า “บ้านเมืองมีเคราะห์ โอรสสวรรค์ไร้ทายาท เรื่องผู้ครองแผ่นดินต้องรีบกำหนด” วาจาเพิ่งจบ จางตุนอัครมหาเสนาบดีก็ตอบว่า “เจี่ยนหวางจ้าวซื่อประสูติร่วมพระมารดาของโอรสสวรรค์ผู้ล่วงลับ ตามหลักการควรยกเจี่ยนหวางเป็นฮ่องเต้” เซี่ยงไทเฮาได้ฟังก็ส่ายพระเศียรตรัสว่า “ข้าไร้โอรส อ๋องทั้งปวงต่างมิได้เกิดจากมเหสีเอก ไม่จำเป็นต้องแยกว่าเกิดจากมารดาใด” จางตุนทูลว่า “ตามราชประเพณีเก่าแก่ หากมีบุตรเอกตั้งบุตรเอก หากไม่มีบุตรเอกตั้งบุตรใหญ่ โอรสทั้งสิบสี่ในพระเจ้าซ่งเสินจงสิ้นพระชนม์ไปแล้วแปดพระองค์ หากนับตามลำดับใหญ่เล็ก ย่อมต้องตั้งโอรสองค์ที่เก้า เซินหวางจ้าวปี้เป็นฮ่องเต้” เซี่ยงไทเฮาค้านว่า “แม้เซินหวางจะอาวุโส แต่พระเนตรบอด แผ่นดินจะมีโอรสสวรรค์จักษุพิการได้หรือ ไม่ได้เป็นอันขาด ตามลำดับถัดไปควรตั้งตวนหวางจ้าวจี๋” จางตุนค้านเสียงดังว่า “ตวนหวางไม่หนักแน่น ไม่เหมาะเป็นประมุขแผ่นดิน” ตวนหวางผู้นี้ก็คือจ้าวจี๋ ตวนหวาไม่หนักแน่นจริงหรือท เวลานั้นมีคนจำนวนมากคัดค้าน เจิงปู้ผู้เป็นจือซูมี่เยวี่ยนซื่อ ไม่ถูกกับจางตุนมาแต่ไร ตำหนิจางตุนทันทีว่า “จางตุนมิเคยถกกับกระหม่อมและคนทั้งหลายเรื่องยกโอรสสวรรค์มาก่อน วันนี้กลับกล่าวเช่นนี้ เป็นที่น่าหวาดวิตกนัก ไทเฮาตรัสว่าจะตั้งตวนหวาง มีพระวินิจฉัยชอบแล้ว กระหม่อมไม่มีข้อคัดค้าน” พอกล่าวจบคนทั้งหลายอันได้แก่ รองมหาเสนาบดีไช่เปี้ยน จงซูเหมินเซี่ยซื่อหลาง (เท่ากับจงซูซื่อหลาง มีเชิงอรรถไว้แล้วในบทก่อนๆ) สี่ว์เจียงต่างก็กราบทูลว่า “น้อมรับพระเสาวนีย์องค์ไทเฮา” เมื่อเห็นมีผู้เห็นพ้องกับตนมาก เซี่ยงไทเอาก็พอพระทัย พระนางอธิบายต่อเป็นการสนับสนุนความเห็นของพระนางว่ามีเหตุผลสมบูรณ์ “ฮ่องเต้รัชกาลก่อน (หมายถึงพระเจ้าซ่งเจ๋อจง) เคยตรัสว่า ตวนหวางลักษณะมีบุญและอายุยืน ซ้ำเมตตากตัญญู ไม่เหมือนอ๋ององค์อื่น” จางฉุนจึงหมดคำพูด

อันที่จริง จางตุนซึ่งกล่าวหาว่าจ้าวจี๋ไม่หนักแน่นนั้นเป็นขุนนางกังฉินแห่งยุค คำพูดของคนเช่นนี้ ควรนำมาใช้ในทางกลับกัน แต่ทว่า โชคร้ายคือคราวนี้จางตุนไม่ได้กล่าวโกหก และไม่ได้มองผิดไป

วันที่ 12 เดือนอ้าย เซี่ยงไทเฮาให้คนเชิญตวนหวางจ้าวจี๋เข้าวัง ให้เสวยราชย์ต่อหน้าพระศพฮ่องเต้ผู้วายชนม์ เวลานั้นจ้าวจี๋มีพระชนมายุได้สิบเก้าพรรษา

เวลานี้จ้าวจี๋ซึ่งเพิ่งขึ้นครองราชย์มิใช่หนุ่มเสเพลผู้เอาแต่มัวเมาอบายมุข และไม่ใช่ประมุขโง่เขลาผู้ไม่ทำเรื่องดี เอาแต่ทำเรื่องชั่ว เวลานั้นจ้าวจี๋ถือว่ามี “พระปรีชาสามารถแท้จริง” มีพระประสงค์จะสร้างคุณุปการ พระองค์ “เลื่อนจากตำแหน่งอ๋องรับสืบราชสมบัติ มีพระทัยกว้างรับคำทัดทานตักเตือน แก้ไขปัญหาการปกครอง เป็นที่คาดหวังของปวงประชา การปกครองใกล้เคียงกับสมัยพระเจ้าซ่งเหรินจงแลพระเจ้าซ่งเจ๋อจง” เรียกได้ว่า เมื่อแรกครองราชย์นั้น จ้าวจี๋มีพระทัยตั้งมั่นในการบริหารแผ่นดิน คิดฟื้นฟูแผ่นดินซ่งที่เต็มไปด้วยปัญหาให้กลับมาเป็นยุครุ่งเรืองอีกครั้ง พระองค์จึงได้เริ่มการปฏิรูปหลายประการ

ในลำดับแรกคือกำจัดขุนนางโฉดชั่วใช้สอยขุนนางประเสริฐ ในยุคสังคมศักดินาที่อำนาจอยู่ในมือฮ่องเต้ ราชสำนักจะมืดมนหรือไม่ การปกครองจะสะอาดหรือไม่ กุญแจสำคัญอยู่ที่สามารถกำจัดขุนนางโฉด ใช้สอยขุนนางดีได้หรือไม่ จางตุนเคยต่อต้านการที่ซ่งฮุยจงจ้าวจี๋จะเสวยราชย์ จ้าวจี๋ย่อมมีใจโกรธแค้นอยู่ เวลานั้นพระองค์ยืมคำกราบทูลของผู้อื่นถือโอกาสจัดการจางตุน ลดตำแหน่งจางตุนซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้จะมีข้อครหาได้ว่าเป็นการล้างแค้นส่วนพระองค์ แต่ก็นับได้ว่าเป็นการกำจัดภัยใหญ่ประการหนึ่งให้แก่ราชสำนัก ต่อมามีขุนนางกังฉินหลายคนถูกปลด เป็นต้นว่า ไช่เปี้ยน สิงซู่ ไช่จิง หลินซี หลี่ว์เจียเวิ่น อู๋จีว์โฮ่ว สีว์ตั๋วเย่จู่เชี่ย ฯลฯ มาถึงตอนนี้ เหล่ากังฉินที่ทำให้ราชสำนักวุ่นวายเกิดเรื่องไม่หยุดไม่หย่อนได้ถูกขับออกไปจนเรียกได้ว่าเกือบหมดสิ้น

การกำจัดกังฉินเป็นเพียงก้าวแรกของการปฏิรูปการปกครอง การฟื้นความเป็นธรรมให้ผู้ถูกกล่าวหาและการใช้คนดีมีความสามารถจึงจะทำให้การปกครองดำเนินไปได้ด้วยดี จ้าวจี๋เสวยราชย์ได้ไม่นาน ก็ตัดสินพระทัยยกย่องคนดีมาใช้งาน ที่สำคัญได้แก่ตั้งหานจงเยี่ยนเจ้าเมืองต้าหมิงมาเป็นเสนาบดีกระทรวงขุนนาง ตั้งหลี่ชิงเฉินเจ้าเมืองเจินติ้งเป็นเสนาบดีกระทรวงพิธีการ ยกหวงหลี่ว์ขุนนางทัดทานขึ้นมาเป็นราชบัณฑิตที่ปรึกษาและซื่อตู๋  การใช้สามคนนี้เป็นการยกข้ามชั้นมา นอกจากนี้ยังมีการใช้ขุนนางดีอีกหลายคน เช่น ตั้งกงเจ๋ว์เป็นมนตรีตรวจสอบการปฏิบัติราชการของเหล่าขุนนาง ตั้งเฉินจิ่นกับโจวเฮ่าเป็นขุนนางทัดทาน ตั้งเจียงกงวั่ง ฉางอันหมิน เหรินปั๋วอี่ว์ เฉินซื่อเซิง เฉินจวินซี จางซุ่นหมินเป็นมนตรีต่างๆ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบ ทรงรับนโยบายดีๆ ต่างๆ ที่หานจงเยี่ยนทูลเสนอสามเดือนต่อมา หานจงเยี่ยนก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นโย่วผูเย่ซึ่งสมัยนั้นเท่ากับตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีฝ่ายขวา

ฮุยจงยังคืนความยุติธรรม คืนเกียรติยศให้กับผู้ได้รับความอยุติธรรมในรัชกาลก่อน เป็นเต้นว่าอัครมหาเสนาบดีฟ่านฉุนเหรินในรัชกาลพระเจ้าซ่งเจ๋อจงและขุนนางอื่นๆ เช่น ซูซื่อ เหวินเยี่ยนปั๋ว หวางกุย ซือหม่ากวาง หลี่ว์กงจู้ หลี่ว์ต้าฝัง หลิวจื๋อและพวก บ้างได้คืนชื่อเสียง ได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุข บ้างได้รับการอภัยโทษ รับตำแหน่งเดิม มาตรการเหล่านี้เป็นที่สรรเสริญของคนทั้งราชสำนัก

ลำดับต่อมาคือการรับคำทูลตักเตือน ประเด็นนี้ ซ่งฮุยจงมักหลบเลี่ยงไม่เป็นธรรมชาตินัก แต่ก็ถือว่ามีหลายเรื่องที่ควรแก่การยกย่อง มีครั้งหนึ่ง ฮุยจงทรงชักว่าวขนาดใหญ่เล่นในวัง ว่าวตกลงไปในบ้านคนใกล้เคียง ราษฎรตื่นตระหนก เจิงปู้กราบทูลเรื่องนี้ ฮุยจงปฏิเสธว่าไม่มีเรื่องดังกล่าว อาจเป็นว่าราษฎรเล่าผิดไป รอให้พระองค์ตรวจสอบให้ชัดก่อนค่อยว่ากัน เจิงปู้กราบทูลหนักแน่นว่า “ฝ่าบาทเพิ่งเสวยราชย์ ยังทรงเยาว์ชันษา หลังราชกิจละเล่นพอให้ทรงพระสำราญ หาใช่เรื่องเสียหายใหญ่โตไม่ แต่ทว่าหากมีการไต่สวน ขุนนางกำกับ อาจมีผู้ถูกใส่ความจำต้องรับโทษ เรื่องราวย่อมแพร่หลายผิดจากข้อเท็จจริง จักเป็นที่เสื่อมพระเกียรติได้” ฮุยจงทราบว่ามิอาจโต้แย้ง จึงเลิกกระทำในทันที ต่อมามีครั้งหนึ่ง ตัดสินพระทัยจะสร้างหอเซิงผิง จางซางอิงอัครมหาเสนาบดีทูลขอให้ทรงประหยัดมัธยัสถ์ ระงับการก่อสร้าง แม้ซ่งฮุยจงจ้าวจี๋จะมิได้ระงับการก่อสร้าง แต่ทุกครั้งที่จางซางอิงผ่านสถานที่ก่อสร้าง ก็จะให้ช่างทั้งหลายไปซ่อนตัวก่อน หลังจางซางอิงผ่านไปแล้วค่อยทำงานต่อ ทรงเป็นถึงพระประมุข จะสร้างหอสักหลัง ยังต้องเล่น “ซ่อนแอบ” กับขุนนาง แม้จะดูแล้วน่าขัน แต่ก็แสดงว่าในเวลานี้จ้าวจี๋ยังกริ่งเกรงและใส่พระทัยคำกราบทูลตักเตือนของขุนนางทั้งหลาย

ลำดับที่สาม ห้ามรวมสมัครพรรคพวกกำจัดคนเห็นต่าง รักษาสมดุลของการปกครอง เมื่อแรกที่ฮุยจงเสวยราชย์ ในราชสำนักมีความเห็นต่างกันมากเกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นับแต่สมัยซ่งเสินจงเป็นต่อม สองฝ่ายต่างโต้แย้งกันรุนแรง แนวคิดที่หนึ่งมองว่า การที่เสินจงใช้แนวคิดของหวางอันสือในการปฏิรูปการปกครองเป็นไปเพื่อความเข้มแข็งของบ้านเมือง แต่พอถึงรัชศกหยวนโหย่ว ซือหม่ากวางกลับหลอกลวงเบื้องสูงให้ยกเลิกการปกครองแบบใหม่ ทำให้บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะอ่อนแอยากจน หากพระองค์จะสร้างคุณูปการ ควรกำจัดคนในพรรคหยวนโย่วให้หมดสิ้น แนวคิดที่สองกลับมองว่า ระบบการปกครองที่กำหนดมาตั้งแต่ต้นราชวงศ์สมบูรณ์ดีอยู่แล้ว การที่หวางอันสือปฏิรูปการปกครองออกกฎหมายใหม่ ทำให้ระเบียบแต่ดั้งเดิมมาเสียใหม่ โชคดีที่ซือหม่ากวางดึงรั้งกลับมาให้อยู่ในวิถีทางอันควร จึงทำให้แผ่นดินซ่งรอดพ้นจากวิกฤติ เคราห์ร้ายที่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงในสมัยเส้าเซิ่ง จึงทำให้วันนี้บ้านเมืองลำบากประชายากไร้ คำสั่งทางการไม่ได้ผล สิ่งที่ควรรีบทำตอนนี้คือหันมาใช้สอยขุนนางพรรคหยวนโย่ว ลดตำแหน่งขุนนางพรรคเส้าเซิ่ง แนวคิดที่สามมองว่า ไม่ว่าขุนนางพรรคปฏิรูปหรือพรรคอนุรักษ์นิยมก็ควรได้รับการใช้สอยตามความสามารถ ไม่ควรกีดกันด้วยความเห็นต่าง แน่นอนว่าแนวคิดที่สามเป็นประโยชน์ต่อความสามัคคีมากที่สุด ส่วนสองแนวคิดแรกสุดโต่งเกินไป ฮุยจงขบคิดแล้วก็ได้มีพระราชโองการทั่วประเทศ ประกาศท่าทีต่อขุนนางทั้งสองพรรคในเดือน 10 ปีที่ 3 แห่งรัชศกหยวนฝูว่า “ทั้งกลุ่มอนุรักษ์และกลุ่มปฏิรูปต่างมีข้อบกพร่อง ปรารถนาจะใช้ความเป็นธรรมสลายการเกาะตัวกันเป็นพรรคเป็นกลุ่มก้อน...” ทัศนคติไม่โอนเอียง ใช้คนตามความสามารถนี้เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง

จากมาตรการต่างๆ ในช่วงฮุยจงแรกเสวยราชย์ เห็นชัดว่าทรงเป็นโอรสสวรรค์ผู้สามารถพัฒนาประเทศให้รุ่งเรืองขึ้นใหม่ได้ หากพระองค์ยืนหยัดมั่นคงได้เป็นเวลานาน บางทีราชวงศ์ซ่งเหนือที่ยากไร้อ่อนแอมานานอาจรุ่งเรืองเฟื่องฟูได้ใหม่ แต่ทว่า สถานการณ์ที่ซ่งฮุยจงบริหารบ้านเมืองอย่างดีนี้มิได้ดำรงอยู่นานนัก

******** เกร็ดเสริม**********

จือซูมี่เยวี่ยนซื่อเป็นผู้บริหารสูงสุดของซูมี่เยวี่ยน เริ่มมีตั้งแต่สมัยห้าราชวงศ์ เมื่อแรกราชวงศ์ซ่งไม่มีตำแหน่งนี้ ต่อมาจึงตั้งขึ้น มีหน้าที่บัญชาการทหารทั้งประเทศ อาจพอเทียบได้กับผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ซื่อตู๋เป็นตำแหน่งขุนนางที่คอยอ่านหนังสือและอภิปรายเนื้อหาร่วมกับฮ่องเต้หรือพระโอรส 

ในรัชศกซีหนิง สมัยพระเจ้าซ่งเสินจง อัครมหาเสนาบดีหวางอันสือทูลเสนอแนวทางปฏิรูปการปกครองและออกกฎหมายใหม่ พระเจ้าซ่งเสินจงสนับสนุนเต็มกำลัง แต่เกาไทเฮาและขุนนางฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่เห็นด้วยต่อมาในรัชศกหยวนเฟิง ซ่งเสินจงสวรรคต พระโอรสคือซ่งเจ๋อจงครองราชย์ ใช้รัชศกหยวนเฟิงต่อ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นรัชศกหยวนโย่ว เมื่อแรกเสวยราชย์ ซ่งเจ๋อจงทรงพระชนมายุเพียงเก้าพรรษา อำนาจอยู่ในมือเกาไทเฮา ซึ่งตอนนี้เป็นพระอัยยิกาเกา พระอัยยิกาเกาใช้ซือหม่ากวางซึ่งเป็นขุนนางกลุ่มอนุรักษ์นิยมเป็นอัครมหาเสนาบดี ยกเลิกการปฏิรูปต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัชศกซีหนิง ต่อมาปีที่ 8 แห่งรัชศกหยวนโย่ว พระอัยยิกาเกาสวรรคต ซ่งเจ๋อจงว่าราชการเอง ทรงลดตำแหน่งขุนนางฝ่ายอนุรักษ์นิยม หันมาใช้ขุนนางฝ่ายปฏิรูป ปีต่อมาก็เปลี่ยนรัชศกเป็นเส้าเซิ่ง ปลายสมัยซ่งเจ๋อจงเปลี่ยนรัชศกอีกครั้งเป็นหยวนฝู ขุนนางพรรคหยวนโย่วในที่นี้หมายถึงกลุ่มอนุรักษ์นิยม ขุนนางพรรคเส้าเซิ่งหมายถึงกลุ่มปฏิรูป

 

อ่านตอนที่ 2 https://www.siaminterbook.com/blog/blog/1968

Top Hit


Special Deal