(* กดเพื่อเปลี่ยนสีพื้นหลัง)

ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ ชาติมังกร!! การล่มสลายของราชวงศ์

ขับไล่คนดี โปรดปรานหกโจร ไม่ขยันราชกิจ ศรัทธาศาสนาเต๋า ก่อสร้างใหญ่โต การปกครองโหดร้าย

เหตุใดฮุยจงจึงเปลี่ยนจากประมุขผู้ประเสริฐมาเป็นประมุขเหลวไหลได้ในเวลาอันรวดเร็ว? เหตุใดการฟื้นฟูบ้านเมืองจึงเป็นเพียงเรื่องที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว? ปัญหานี้ นักประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัยมีความเห็นไม่ตรงกันนัก บางคนเห็นว่าฮุยจงเยาว์ชันษา ไม่มีประสบการณ์การบริหาร ถูกขุนนางเรืองอำนาจครอบงำได้ง่าย บางคนเห็นว่าขุนนางที่ฮุยจงไว้วางพระทัยคือหานจงเยี่ยนและเจิงปู้มีความเห็นไม่ตรงกันในการบริหาร แตกคอกันเอง ทำให้ขุนนางกังฉินสบช่องได้โอกาสกลับคืนสู่ราชสำนัก แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นความผิดของซ่งฮุยจงจ้าวจี๋ในการตรวจสอบและการใช้คน

หลังจากลดตำแหน่งหานจงเยี่ยน เจิงปู้และพวก จ้าวจี๋ได้หันมาใช้ไช่จิง ไช่จิงเป็นคนถ่อยโฉดชั่วไร้ยางอาย ขึ้นลงในทะเลราชการหลายครั้งหลายหน แต่ก็สามารถเปลี่ยนร้ายเป็นดีได้ทุกคราวไป หากจะหาสาเหตุ ต้องยอมรับว่าคนผู้นี้มีฝีมือในทางการเมืองเหนือกว่าคนทั่วไป ว่ากันว่าก่อนจ้าวจี๋เสวยราชย์ มีพระทัยโปรดปรานศิลปะการเขียนพู่กันและวาดภาพ ไช่จิงเป็นนักเขียนพู่กันนามกระเดื่อง จ้าวจี๋ทรงใช้ทรัพย์ถึงสองหมื่นอีแปะซื้อผลงานของไช่จิงมา เมื่อรักในฝีมือก็ย่อมเผื่อแผ่ถึงเจ้าตัว จ้าวจี๋จึงรู้สึกดีต่อไช่จิงไปด้วย หลังเสวยราชย์ เนื่องจากไช่จิงมีพฤติการณ์ชั่วช้า เป็นที่ก่นด่าของคนทั้งหลาย จ้าวจี๋ไม่อาจปกป้องได้ จึงลดตำแหน่งเขาไปอยู่หางโจว ปีแรกแห่งรัชศกเจี้ยนจงจิ้งกว๋อ (ค.ศ.1101) ถงกว้านขันทีคนสนิทรับบัญชาไปเสาะหาภาพเขียนและภาพลายพู่กันที่หางโจว จึงได้โอกาสคบหากับไช่จิงอยู่นาน ไช่จิงบรรจงวาดภาพฉากกั้นและพัดจำนวนไม่น้อย ขอให้ถงกว้านนำกลับมา จ้าวจี๋ได้ทอดพระเนตรก็ชื่นชมมิได้หยุด ถงกว้านฉวยโอกาสเพ็ดทูลให้ไช่จิง ต่อมาขุนนางทั้งหลายที่เคยได้ประโยชน์จากไช่จิง ไม่ว่าจะเป็นขุนนางใหญ่ฟ่านจื้อซวี หัวหน้าฝ่ายกิจการศาสนาเต๋าฝ่ายขวาสีว์จือฉาง ตลอดจนนางกำนัลหรือขันทีทั้งหลายก็พากันยกย่องไช่จิงจนฮุยจงพระทัยอ่อน ในที่สุดก็มีพระราชโองการเลื่อนไช่จิงเป็นราชบัณฑิตหอหลงถู[1]และเจ้าเมืองติ้งโจว ต่อมาก็เลื่อนตำแหน่งแล้วเลื่อนตำแหน่งอีก เพียงครึ่งปีก็เป็นโย่วผูเย่ควบตำแหน่งจงซูซื่อหลางซึ่งสมัยนั้นเท่ากับตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีฝ่ายขวา ผ่านไปอีกครึ่งปีก็เป็นจั่วผูเย่ควบตำแหน่งเหมินเซี่ยซื่อหลางซึ่งเท่ากับตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีฝ่ายซ้าย[2] เลื่อนตำแหน่งไวจนเป็นที่น่าอัศจรรย์แก่สายตาผู้คน

ต่อจากนั้นจ้าวจี๋ก็หันมาใช้คนโฉดเช่น หวางฝู่ ถงกว้าน เหลียงซื่อเฉิง หลี่เยี่ยน จูเหมี่ยน และปล่อยกังฉินโฉดชั่วเหล่านี้กระทำการตามอำเภอใจ ราษฎรเกลียดชังจนเข้ากระดูก ตั้งฉายาให้ไช่จิงและคนเหล่านี้ว่า “หกโจร” ส่วนตัวจ้าวจี๋เองกลับหลงคิดไปว่าได้หา “คนเก่ง” ที่มีความสามารถในการบริหารบ้านเมืองมาได้ จึงมอบอำนาจราชสำนักให้คนเหล่านี้ดูแล มีเพียงเรื่องใหญ่จริงๆ เท่านั้นที่ต้องขอความเห็นชอบจากพระองค์

ทันทีที่หลุดพ้นจากราชการงานหนัก จ้าวจี๋ก็หันมาใฝ่พระทัยในศาสนาเต๋า และกลับมารักชอบต้นไม้ใบหญ้าดอกไม้และหินแปลก

ฮุยจงเริ่มศรัทธาศาสนาเต๋ามาตั้งแต่รัชศกฉงหนิง แรกทีเดียวนั้นเป็นเพียงศรัทธาธรรมดา ไม่มีพฤติการณ์ใดผิดจากปรกติ แต่พอถึงรัชศกเจิ้งเหอและรัชศกเซวียนเหอ ความศรัทธานั้นได้กลายเป็นถึงขั้นงมงายบ้าคลั่ง

ฮุยจงมีพระราชโองการต่างๆ หลายประการเพื่อทำให้ศาสนาเต๋ารุ่งเรือง เป็นต้นว่าปีที่ 2 แห่งรัชศกเจิ้งเหอ (ค.ศ.1112) ต่อไปนี้หากพุทธบริษัทประกอบพิธีกรรมใดในศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนต์ ขอขมา ขอพรใด หากกราบไหว้เทพในศาสนาเต๋าในฐานะเทพในศาสนาพุทธ จะต้องลงโทษภิกษุและภิกษุณีในฐานะละเมิด หากเจ้าอาวาสรู้แต่ไม่แจ้งให้ผิดสถานเดียวกัน ยังสั่งให้ขุนนางน้อยใหญ่ปัญญาชนราษฎรและนักพรตทั่วแผ่นดินถวายคัมภีร์เต๋า ไม่ว่ามีมากน้อยก็ต้องถวาย เจ้าเมืองน้อยใหญ่ต้องเสาะแสวงหามา เดือนอ้ายปีที่ 4 แห่งรัชศกเจิ้งเหอ มีการ “กำหนดขั้นเต๋า รวมย่สิบหกขั้น” มีระดับเท่ากับขุนนางระดับกลางถึงผู้ช่วยเสนาบดี ปีที่ 6 แห่งรัชศกเจิ้งเหอ มีราชโองการให้ศาสนาเต๋าขึ้นตรงต่อมี่ซูเสิ่ง ปีที่ 7 แห่งรัชศกเจิ้งเหอ มีบัญชาให้นักพรตทั่วแผ่นดินไม่ต้องต้อนรับขุนนางท้องที่ด้วยการรับที่บันได ยังมีการพระราชทานแผ่นหยกอาญาสิทธิ์และแผ่นทองอาญาสิทธิ์ที่ปรกติแสดงถึงความสูงศักดิ์ของราชวงศ์ไม่พระราชทานให้คนโดยง่าย ให้กับนักพรต โดยสรุปแล้ว “นักพรตเป็นขุนนาง ได้รับพระเมตตาไม่ต่างจากขุนนางใหญ่”

ฮ่องเต้ศรัทธาในศาสนาเต๋าเช่นนี้ ย่อมเกิดผลกระทบใหญ่หลวงต่อสังคม ประการแรกคือขุนนางท้องที่ต้องการเอาใจซ่งฮุยจง จึงเก็บภาษีหนักเพื่อมาให้บำรุงศาสนาเต๋า เนื่องจากมีทางการสนับสนุน อารามเต๋ายิ่งทียิ่งสร้างฟุ้งเฟ้อหรูหรา ประการที่สองคือทำให้นักพรตก้าวก่ายราชกิจ

นอกจากนี้ จ้าวจี๋ยังมี “งานอดิเรก” พิเศษคือสนใจต้นไม้ใบหญ้าดอกไม้และหินแปลก ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์แล้ว ประวัติศาสตร์บันทึกว่า “เมื่อครั้งทรงเป็นอ๋อง โปรดอ่านหนังสือ วาดภาพ เขียนพู่กัน สะสมของโบราณและหินแปลก ต่างจากอ๋ององค์อื่นๆ ” คนคนหนึ่งมีงานอดิเรกบางอย่างไม่ใช่เรื่องเลวร้าย หากจ้าวจี๋ไม่ใช่ฮ่องเต้ อาศัยปัญญาและความหลงใหลอย่างหนักน่าจะได้เป็น “ศิลปิน” แต่เสียดายที่พระองค์เป็นฮ่องเต้ “ฉู่หวางโปรดเอวเล็ก ในวังคนอดตาย”[3] ความชอบของฮ่องเต้หากไม่ควบคุมไว้ ก็สามารถนำมาซึ่งทุกข์ยากแก่บ้านเมืองและราษฎรทั้งแผ่นดิน

ไช่จิงซึ่งรู้หลักการเป็นขุนนางดีย่อมรู้ว่าหากจะให้ตนเป็นที่โปรดปรานได้นาน ก็ต้องหาวิธีเอาใจผู้เป็นประมุข พอเห็นฮุยจงโปรดหินแปลกก็นึกดีใจ ลอบสั่งให้จูชงจูเหมี่ยนสองพ่อลูกขนหินแปลกจากเจ้อจงมาถวาย จูชงกับจูเหมี่ยนเป็นพลพรรคของไช่จิงที่ได้รู้จักตอนที่ไช่จิงถูกลดตำแหน่งไปอยู่หางโจว เมื่อไช่จิงรับราชโองการกลับเมืองหลวงก็พากสองพ่อลูกนี้กลับมาด้วยและจัดให้อยู่ในทัพของถงกว้าน ครั้นไช่จิงมีอำนาจขึ้น จูชงและจูเหมี่ยนก็ได้เป็นขุนนาง ตอนแรกคนเหล่านี้ไม่รู้พระทัยฮุยจง หามาแต่หินแปลกเล็กๆ น้อยๆ ทว่าฮุยจงกลับพอพระทัยมาก ไช่จิงกับจูเหมี่ยนทำให้ยิ่งประสงค์จะได้หินแปลกมากขึ้นไปอีก พอไช่จิงแน่ใจว่าฮุยจงมิใช่ประมุขที่มัธยัสถ์แน่แล้วก็ถือโอกาสทำเป็นเรื่องใหญ่ ปีที่ 4 แห่งรัชศกฉงหนิง (ค.ศ.1105) จ้าวจี๋เห็นชอบให้มีการตั้งหน่วยงานหาของถวายซูโจวหางโจว จูเหมี่ยนเป็นผู้บัญชาการ ทำหน้าที่เสาะแสวงหาหินประหลาดพิสดารจากเจียงหนานมาถวายฮ่องเต้ เรียกว่า “ฮวาสือกัง”[4]

“ฮวาสือกัง” นำความเดือดร้อนให้บ้านเมืองและราษฎรหนักหนาสาหัส

จูเหมี่ยนใช้วิธีเลวร้ายต่างๆ ในการขนส่งกองเรือหินประหลาดเหล่านี้ โหดร้ายกับราษฎรจนน่าตระหนก ประวัติศาสตร์บันทึกว่า “ไม่ว่าบ้านมั่งคั่งหรือบ้านสามัญ หากมีหินหรือไม้ประหลาดพิสดารน่ายล จะสั่งให้ทหารบุกเข้าไปในบ้าน เอากระดาษเหลืองปิดไว้ ระบุว่าเป็นของหลวง ให้คนรักษา หากเกิดเหตุผิดพลาด ลงทัณฑ์ในฐานไม่เคารพเบื้องสูง ยามขนย้ายออก เป็นต้องพังบ้านทะลวงกำแพงขนออกมา หากโชคร้ายมีความผิดพลาดบกพร่องเล็กน้อยใด ถูกหาว่าอัปมงคล เกรงแต่จะกำจัดไม่เร็วพอ” นอกจากนั้น ราษฎรยังต้องถูกเกณฑ์มาเป็นแรงงานในการนี้ ต่อให้เป็นบ้านฐานะปานกลาง ก็ยังถึงกับต้องสิ้นเนื้อประดาตัว หรือขายลูกชายหญิงมาจ่ายเป็นค่าแรงในการขนส่ง หากมีหินพิสดารหรือไม้ล้ำค่าอยู่ในหุบเขาเหวลึก หรืออยู่ในบึงใหญ่ ก็ต้องหาวิธีนานัปการเพื่อให้ได้มาถึงมือ

การขนส่งหินประหลาดเหล่านี้สร้างภาระหนักอึ้งให้กับราษฎรแถบตะวันออกเฉียงใต้ ว่ากันว่า ในรัชศกเซวียนเหอ ลูกสมุนของจูเหมียนหาหินทะเลสาบไท่หูได้ หินนั้นยาวกว่าสี่จ้าง กว้างสองจ้าง ไม่สามารถขนส่งทางบกได้ ต้องขนส่งทางน้ำ ผู้ที่ต้องมาเป็นแรงงานในการนี้มีหลายพันคน เมื่อผ่านที่ใด หากหินสูงเกินจะพ้นก็ต้องรื้อสะพานและประตูระบายน้ำทิ้งเพื่อให้ขนหินมาได้ พอมาถึงเมืองหลวง จ้าวจี๋ก็ตั้งชื่อหินนี้ว่า “ศิลาเทพขนส่งประกาศคุณูปการ” จากนั้นก็เพียงแย้มสรวลมิได้กระทำการใดต่อ

หินเป็นเช่นนี้ ต้นไม้ดอกไม้ยิ่งขนส่งยากขึ้นอีก แม้ดอกไม้ใบหญ้าพิสดารจะรื่นรมย์แก่สายตา แต่การขนส่งจากทางตะวันออกเฉียงใต้มานครไคเฟิงไม่ใช่เรื่องง่าย จูเหมี่ยนไม่สนใจ มุ่งแต่จะขนมาให้จงได้  แถบซูโจว “เบื้องล่างนับแต่สุสาน หากมีไม้ล้ำค่าเป็นต้องถุกขุดมา ที่หลงเหลือในป่าเขา มีแต่ที่ขนาดใหญ่หลายคนโอบหรือเป็นไม้ไร้ประโยชน์จึงจะได้อยู่รอดต่อไป” เนื่องจากเส้นทางยาวไกล พรรณพฤกษ์เหล่านี้“ต้องลมต้องแดด ปลูกได้ไม่นานก็มักเฉาตาย จึงต้องเปลี่ยนใหม่บ่อยๆ เป็นที่วุ่นวายซับซ้อนในการแสวงหา”

ในเมื่อมีพรรณพฤกษ์และหินพิสดารที่ขูดรีดมาจากที่ต่างๆ ในเจียงหนาน จ้าวจี๋ก็ทุ่มเทกำลังในการสร้าง “สิ่งก่อสร้างพื้นฐาน” ในพระราชวัง ตำหนักที่สร้างนั้นมีตำหนักจิ่วเฉิง ตำหนักเหยียนฝู ภูเขาเกิ้น ตำหนักหฺวาหยาง ฯลฯ เฉพาะภูเขาเกิ้น เริ่มสร้างอย่างเป็นทางการในปีที่ 7 แห่งรัชศกเจิ้งเหอ สร้างเสร็จในปีที่ 6 แห่งรัชศกเซวียนเหอ (ค.ศ.1122) กินเวลานานถึงหกปี บันทึกประวัติศาสตร์เล่าว่าสิ่งก่อสร้างด้วยน้ำมือมนุษย์นี้งามตระหง่าน ยิ่งใหญ่ไพศาล “ป่าเขาหุบเหว สูงเสียดลึกสุด เก๋งหอตำหนักอาราม ไม่อาจคณานับ ต้นไม้ใบหญ้าหินพิสดารจากทุกหนแห่งมาประชุมรวมกันที่นี่ สัตว์ปีกสัตว์สี่เท้าพิสดาร มิมีใดไม่มี” มีภูเขาเกิ้นแล้ว จ้าวจี๋ยังไม่พอ ยังให้สร้างตำหนักหฺวาหยางเพิ่มอีก ตำหนักหฺวาหยางงดงามเหลือประมาณ ซ่งฮุยจงจ้าวจี๋เสพสุขถึงขั้นสูงสุด แต่ทรัพย์สมบัติในท้องพระคลังราชสำนักซ่งเหนือก็ว่างเปล่าไปเพราะการนี้

 

[1]หอหลงถูเป็นหอเก็บลายอักษรซ่งไท่จง ตลอดจนตำรา ภาพวาด และของมงคลต่างๆ ราชบัณฑิตหอหลงถูไม่มีอำนาจแท้จริง เป็นเพียงตำแหน่งเกียรติยศ

[2]ในสมัยนั้น ซ้ายใหญ่กว่าขวา

[3]ปรัชญานิพนธ์ “ม่อจื่อ” บรรพที่ว่าด้วย “รักสากล” เล่าไว้ว่าในสมัยก่อน ฉู่หวางโปรดให้บุรุษมีเอวเล็ก ขุนนางในราชสำนักฉู่เกรงว่าตนเองจะอ้วนเกินไม่เป็นที่โปรดปราน จึงไม่กล้ากินมาก แต่ละวันจะกินอาหารเพียงมื้อเดียวเพื่อคุมไม่ให้เอวใหญ่ ทุกเช้าพอตื่นนอน จะกลั้นหายใจก่อน แล้วจึงใช้ผ้าผูกเอวให้แน่นก่อนจะเอามือจับผนังห้องค่อยๆ ลุกขึ้นมา เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผ่านไปหนึ่งปี ขุนนางทั้งฝ่ายบุ๋นฝ่ายบู๊ต่างมีสีหน้าอิดโรยเพราะขาดอาหาร

 

[4]ฮวาสือหมายถึงหินประหลาดพิสดาร ส่วนกังเป็นหน่วยนับ เรือสิบลำนับเป็นหนึ่งกัง

 

 

Top Hit


Special Deal