(* กดเพื่อเปลี่ยนสีพื้นหลัง)

ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ ชาติมังกร!! การล่มสลายของราชวงศ์ "ซ่งเหนือ" ตอนที่ 3

ผิดพลาดบริหารทั้งนอกใน ใต้ฟ้าแต่นี้ไปไม่ร่มเย็น

จ้าวจี๋ไม่ได้มีความสามารถในการบริหารแผ่นดิน ทั้งไม่ขยันในราชกิจ ใช้แต่ขุนนางกังฉินที่คอยเสนอความเห็นชั่วช้า การที่ผิดพลาดในราชการบ่อยครั้งเป็นเรื่องที่ไม่ประหลาดอันใด

กล่าวถึงการบริหารภายในก่อน ในยุคสมัยฮุยจงมีการปฏิรูประบบเงินตรา ใช้นโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่นกำหนดอัตราภาษีตามความสมบูรณ์ของพื้นที่  เว้นเกณฑ์แรงงาน รับซื้อเสบียงเข้ารัฐ ตลอดจนปรับระบบการจัดการกับเกลือและชา แต่ทว่าแม้จุดเริ่มต้นของนโยบายเหล่านี้จะไม่ผิด แต่เนื่องจากฮุยจงและคนสนิททั้งหลายเช่นไช่จิงใช้สอยฟุ่มเฟือย ทำให้มีค่าใช้จ่ายมาก จึงคิดอ่านหาทางขูดรีดราษฎร นโยบายต่างๆ ในทางปฏิบัติแล้วกลับกลายเป็นเครื่องมือในการแย่งชิงทรัพย์สิน ยกตัวอย่างกฎหมายเว้นเกณฑ์แรงงาน เดิมเป็นการสืบทอดจากหวางอันสือ แต่ผลของการปฏิบัติกลับต่างกันโดยสิ้นเชิง การเว้นเกณฑ์แรงงานของหวางอันสือคือเปลี่ยนจากระบบเดิมที่ราษฎรต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเวรไปเข้างานให้อำเภอและเมือง มาเป็นที่ทำการอำเภอและเมืองออกเงินจ้างคนมาทำงาน ค่าใช้จ่ายเก็บจากระดับของแต่ละครัวเรือน ครัวเรือนระดับบนขั้นสามที่เดิมต้องเป็นเวรเข้างานจ่ายเงินเว้นเกณฑ์แรงงาน ครัวเรือนในเมืองที่เป็นครัวเรือนระดับบนขั้นห้า ครัวเรือนในชนบทที่เป็นครัวเรือนไม่มีชายฉกรรจ์ มีชายฉกรรจ์คนเดียว มีแต่สตรี หรือเป็นครัวรับราชการ ออกเงินครึ่งหนึ่ง เรียกว่าเงินช่วยแรงงาน นอกจากนี้จ่ายค่าเว้นเกณฑ์แรงงานเพิ่มอีกสองในสิบ เป็นหลักประกันกรณีเกิดภัยพิบัติ จุดเริ่มต้นมาจากช่วยราษฎรให้พ้นจากความทุกข์ยาก แต่การเว้นเกณฑ์แทรงงานในสมัยฮุยจงมีวัตถุประสงค์ในการขูดรีด เกิดการทุจริตต่างๆ มากมาย ภาระของราษฎรมากกว่าแต่เก่าก่อน เป็นต้นว่าเมืองก่งโจวในหล่งซีมณฑลกานซู เงินที่ต้องจ่ายเว้นเกณฑ์แรงงานในรัชศกหยวนเฟิงคือสี่ร้อยพวง[1] ภาระถือว่าเบา แต่พอถึงปีแรกแห่งรัชศกเจิ้งเหอก็เพิ่มเป็นเกือบสามหมื่นพวง สูงขึ้นกว่าเจ็ดสิบเท่า ไม่ต้องอธิบายก็ทราบว่าเกินเหล่านี้ส่วนใหญ่ไหลไปสู่กระเป๋าของขุนนางโกงกินซึ่งมีไช่จิงรวมอยู่ด้วย หากเงินเหล่านี้มาจากคนรวย ราษฎรยากไร้ยังได้พอพ้นหายใจ แต่ภาระเหล่านี้ถูกผลักไปสู่ครัวเรือนยากไร ครัวเรือนที่รับราชการออกเงินเพียงครึ่งเดียว เนื่องจากมีครัวเรือนที่รับราชการอยู่มาก ต้องลดเพียงครึ่ง ครึ่งที่เหลือถูกผลักภาระไปให้ครัวเรือนระดับล่าง ปีแรกแห่งรัชศกเซวียนเหอ (ค.ศ.1119) “ครัวเรือนระดับล่างนอกจากต้องจ่ายปกติ ยังต้องจ่ายแทนอีกครึ่งที่ครัวเรือนที่รับราชการได้รับยกเว้น” ถ้าเช่นนั้นที่ทำการอำเภอและเมืองเกณฑ์ผู้ใดมาเป็นแรงงาน? โดยมากเกณฑ์นักเลงหัวไม้มา คนเหล่านี้ไม่สนใจกฎหมายรบกวนราษฎร ไม่กริ่งเกรงสิ่งใด ลักทรัพย์ซึ่งหน้า การเกณฑ์คนพวกนี้มาเป็นแรงงานทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนหนักขึ้นไปอีก

อีกตัวอย่างคือการรับซื้อเสบียงเข้ารัฐ ต้นราชวงศ์ซ่งใช้เงินสดซื้อเสบียงมาเก็บไว้เพื่อเตรียมในกรณีสงคราม ต่อมามีวิธีต่างๆ มากมายกลายเป็นการขูดรีดราษฎร ต้นรัชศกฉงหนิง ไช่จิงใช้วิธีซื้อเสบียงเพียงครั้งเดียว จากนั้นให้คนส่งไปยังจุดที่กำหนดไว้ ขุนนางท้องที่ใช้วิธีขูดรีดราษฎรเพื่อหาเสบียงให้ครบจำนวน ต่อมาใช้วิธีคำนวณก่อนว่าปีนี้จะได้ผลเก็บเกี่ยวเท่าไร จ่ายเงินก่อนล่วงหน้า หลังเก็บเกี่ยวแล้วให้ส่งมอบเสบียงโดยคิดราคาตลาดขณะนั้น ในการคำนวณมีลักษณะของการแบ่งสัดส่วน ไช่จิงสั่งการให้ลงโทษหรือให้รางวัลขุนนางตามผลงาน ขุนนางพยายามกดราคารับซื้อเพื่อเอาเสบียงเข้าจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีวิธีเฉลี่ยรับซื้อ ไม่ว่าบ้านราษฎรมีเสบียงหรือไม่ก็ต้องแบ่งสัดส่วนกันขายเสบียงเข้ารัฐ คนที่ไม่มีเสบียงก็ต้องไปซื้อมาในราคาสูง จากนั้นขายให้รัฐในราคาปกติ ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากเรื่องนี้มาก

โดยสรุปแล้ว นโยบายเศรษฐกิจที่กล่าวมาข้างต้นไม่เพียงไม่ได้ช่วยบรรเทาความขัดแย้งในสังคม แต่ยังทำให้สังคมปั่นป่วนและเศรษฐกิจพังทลายหนักขึ้น

การหาหินแปลกและนโยบายขูดรีดราษฎรเหล่านี้ทำให้ราษฎรสิ้นเนื้อประดาตัวกันทั่วไป ตกอยู่ในภาวะอดอยากหนาวเหน็บ ท้ายสุดก็ต้องเสี่ยงตายลุกมาเป็นกบฏต่อทางการ ในสมัยฮุยจง มีกบฏชาวนาจำนวนมาก กบฏกลุ่มที่มีขนาดใหญ่และกินพื้นที่กว้างได้แก่กบฏฟังล่าและกบฏซ่งเจียง แม้ว่าท้ายสุดกบฏเหล่านี้จะถูกฝ่ายปกครองปราบปรามได้ แต่ความขัดแย้งของสังคมก็รุนแรงขึ้นทุกขณะ ซ่งฮุยจงจ้าวจี๋ยังไม่ได้สติ ทางตะวันออกเฉียงใต้เพิ่งสงบไม่นาน ก็กลับมาให้มีการขนหินแปลกอีก การกระทำเช่นนี้กระทั่งถงกว้านยังทนดูต่อไปไม่ไหว ถอนใจกราบทูลว่า “ราษฎรตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่สงบดี จะทำเรื่องนี้อีกหรือพ่ะย่ะค่ะ? ” แต่จ้าวจี๋กลับไม่สนใจ ยังคงทำตามพระทัยพระองค์เองต่อไป

การบริหารภายในเป็นเช่นนี้ การต่างประเทศยิ่งหนักกว่า ในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ เป็นช่วงเวลาที่ชนเผ่าส่วนน้อยตามชายแดนต่างๆ กล้าแข็ง ทางเหนือของที่ราบจงหยวนและทางตะวันตกเฉียงใต้ มีอาณาจักรของชาวจิน ชาวเหลียว ชาวถู่ปัว ชาวซีเซี่ย ราชวงศ์ซ่งเหนือให้ความสำคัญกับการจัดการความสัมพันธ์กับอาณาจักรใกล้เคียงเหล่านี้มาโดยตลอด โดยภาพรวมแล้ว ราชวงศ์ซ่งเหนือใช้วิธีนุ่มนวลในการรักษาความสัมพันธ์กับอาณาจักรต่างๆ นานๆ ครั้งจึงจะยกทัพไปโจมตีบ้าง ใช้ทั้งไม้แข็งไม้อ่อน รบบ้างสงบศึกบ้าง ทำให้ความสัมพันธ์หลายด้านนี้บ้างครั้งก็เป็นไปอย่างโล่งโปร่ง บางครั้งก็มีเมฆหมอกปกคลุม พอถึงสมัยฮุยจง เนื่องจากบ้านเมืองอ่อนแอ ไมมีกำลังพอจะทำศึกหลายด้าน เมื่อแรกจ้าวจี๋เสวยราชย์ก็มักวิธีนุ่มนวล จัดการความสัมพันธ์กับชนเผ่าต่างๆ ชายแดนได้ค่อนข้างเหมาะสม ถือว่าสถานการณ์ชายแดนค่อนข้างสงบ

แต่ทว่า สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้คงอยู่นาน จ้าวจี๋เกิดทำสงครามขึ้นมา นับตั้งแต่ปีที่ 2 แห่งรัชศกฉงหนิง (ค.ศ.1103) จนถึงปีที่ 5 แห่งรัชศกเจิ้งเหอ (ค.ศ.1115) รวมระยะเวลาสิบสองปี เกิดสงครามกับชาวถู่ปัวแถบเหอหวง ชาวซีเซี่ยและปู่โล่ว[2] ในการสงครามเหล่านี้ ทัพซ่งชนะมากกว่าแพ้ พื้นที่ชายแดนขยายขึ้น เปลือกนอกได้ชัย แต่ความจริงแล้ว การใช้กำลังเช่นนี้นอกจากจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการทหาร เพิ่มภาระแก่ราษฎรแล้ว ก็มิได้ทำให้ให้ราชวงศ์ซ่งได้ประโยชน์เท่าใดนัก เมื่อราชวงศ์ซ่งต้องเผชิญหน้ากับอาณาจักรเหลียว อาณาจักรจินซึ่งเข้มแข็งกว่าแล้ว ราชวงศ์ซ่งก็ไม่พร้อมทั้งในด้านกำลังทหารและกำลังทรัพย์ พงศาวดารราชวงศ์ซ่งเขียนว่า “ฮุยจงสิ้นเปลืองภายในละโมบภายนอก นำมาซึ่งเภทภัยและความล้มเหลว เหตุการณ์ทั้งมวล ล้วนมีรากฐานจากการนี้” คำวิจารณ์นี้นับว่าสมกับข้อเท็จจริง

 

[1]หนึ่งพวงเท่ากับเหรียญทองแดงหนึ่งพันอีแปะ

[2]ปู่โล่วเป็นผู้นำชนกลุ่มน้อยเผ่าตัวหวั่งที่ฉางหนิง (อยู่ในเขตมณฑลเสฉวนในปัจจุบัน)

Top Hit


Special Deal