(* กดเพื่อเปลี่ยนสีพื้นหลัง)

ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์จีนฉบับลัด ตอน 1

" รู้สึกว่าหากคิดจะทำหนังสือเรื่องสุภาษิตจีนโดยไม่เกริ่นกล่าวถึงประวัติศาสตร์จีนเลยสักหน่อยจะเป็นเรื่องยาก

เพราะทำให้ต้องไปเกริ่นกล่าวกันตรงแต่ละหน้ากันไม่รู้จบทำให้เกิดความคิดว่ามาเล่าสู่กันฟังตรงนี้ให้พอเห็นภาพตรงกันสักหน่อยจะดีกว่า

โดยจะขอลดทอนสารพัดสิ่งที่ส่วนตัวคิดว่ายากเกินจำเป็น (และส่วนที่ผมเองก็ไม่รู้) ให้เหลือเฉพาะส่วนที่ทำให้อ่านบทความที่เกี่ยวข้องภายในหนังสือเล่มนี้รู้เรื่องและนำไปเล่าให้ผู้อื่นฟังได้นะครับ​ "

 

      ประเทศจีนเป็นประเทศเก่าแก่ เราเรียกว่าประเทศแห่งอารยธรรมโบราณ ซึ่งตีคู่กันมากับอารยธรรมอียิปต์โบราณ อารยธรรมอินเดียโบราณ อารยธรรมกรีซโบราณ ซึ่งต่างก็มีอายุมานานหลายพันปี เท่าที่สืบค้นได้ประวัติศาสตร์จีนมีอายุราวสี่พันปี
      กล่าวถึงการปกครองก่อนจะกลายเป็นประเทศราช แต่ละอารยธรรมล้วนมีวิวัฒนาการของตนเอง ขณะที่สมัยพ่อขุนรามคำแหงประเทศไทยใช้ระบบการปกครองแบบพ่อปกครองลูกนั้น ประเทศจีนโบราณเริ่มต้นจาก "แม่ปกครองลูก" อันเป็นยุคที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ อยู่กันเป็นครัวเรือน เกิดระบบของสกุลแซ่ก่อนจะขยับขยายใหญ่โตกลายเป็นหมู่บ้านชุมชน จน "ความเข้มแข็ง" เป็นสิ่งสำคัญและเกิดเป็นยุค "ผู้ชายเป็นใหญ่" ในเวลาต่อมา
      เมื่อผู้คนหมู่มากมารวมตัวกันตำแหน่ง "ผู้นำ" ก็เกิดขึ้น ผู้นำชุมชน หรือหัวหน้าเผ่าชาวจีนคนแรกในประวัติศาสตร์ ได้แก่ "หวงตี้" ซึ่งในภาษาไทยเราเรียกว่า "จักรพรรดิเหลือง" (Yellow Emperor) ภายหลังรบชนะ "เหยียนตี้" หัวหน้าเผ่าอีกเผ่าหนึ่ง ก็รวมเผ่าเข้าด้วยกันจนเป็นต้นกำเนิดของชาวจีนดังที่ปรากฏในสำนวนจีนว่า ชาวจีนเป็น "ลูกหลานของเหยียน-หวง"

 

หวงตี้
"หวงตี้" หรือ จักรพรรดิเหลือง

 

      เมื่อองค์ประกอบทางสังคมสุกงอม ระบบการปกครองเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง มีระบบสืบทอดสู่ลูกหลาน "ราชวงศ์" จึงเกิดตามมา ราชวงศ์แรกในประวัติศาสตร์จีนมีชื่อว่าราชวงศ์เซี่ย (夏) สถาปนาโดยกษัตริย์ผู้มีนามว่า อวี่ (禹) ผู้มีความดีความชอบในการวางระบบชลประทาน กู้วิกฤตน้ำท่วมโลกในยุคนั้นจนสำเร็จ

      ราชวงศ์เซี่ยถึงคราวสิ้นสูญในมือของกษัตริย์รัชสมัยที่ 17 ผู้มีนามว่า เจี๋ย (桀) ในบทความของชนรุ่นหลังบันทึกว่ากษัตริย์เจี๋ยเป็นทรราชที่หลงระเริงในสตรี (พระนางเม่ยสี่ฮองเฮา) ประหารขุนนางผู้จงรักภักดีอย่างโหดเหี้ยมทารุณ จึงโดนโค่นล้มโดยกองทัพของเหล่าชนกลุ่มน้อยที่นำโดย "ทาง" แห่งชนเผ่า "ซาง" ภายหลังโค่นล้ม "เจี๋ย" สำเร็จ "ทาง" ก็ได้สถาปนาราชวงศ์ "ซาง" ขึ้นโดยมีเขาเป็นประมุขมีนามว่า พระเจ้าซางทาง

      ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ พระเจ้าซางทางเป็นผู้มีจิตเมตตาอารี ซึ่งเห็นได้จากสำนวนสุภาษิตที่เกี่ยวข้องกับเขา เช่น "หวั่งไคอี๋เมี่ยน" = ขึงตาข่ายด้านเดียวรวมไปถึงเรื่องราวของ "โฮ่วอี้ยิงพระอาทิตย์" ก็เกิดขึ้นในยุคของเขาด้วยเช่นกัน

      ราชวงศ์ซางถึงคราวสิ้นสูญในรัชสมัยของกษัตริย์โจ้วหวาง (纣王) เพราะความโหดเหี้ยมทารุณ ไหนจะการสังหารผู้คนด้วยเครื่องประหารสุดโหด "ผูกตัวนักโทษไว้กับเสาทองแดงที่ลนไฟ" ไหนจะการแสวงหาความสุขใส่ตัวโดยไม่ยี่หระความทุกข์ยากของประชาราษฎร "นำเหล้ามาเทเป็นสระน้ำให้ล่องเรือ เอาเนื้อมาแขวนตามกิ่งไม้เพื่อจะเด็ดกินตอนไหนก็ได้" ทั้งๆ ที่ประชาชนกำลังอดอยากปากแห้ง

 

พระเจ้าโจ้วหวาง
กษัตริย์โจ้วหวาง

 

      โจ้วหวางถูกโค่นล้มในสงครามทัพพันธมิตรซึ่งมี "โจวเหวินหวาง" อดีตขุนนางผู้ภักดีผู้หนึ่งเป็นแกนนำ มหาสงครามครั้งนั้นได้เป็นภูมิหลังให้กับนวนิยายจีนเล่มสำคัญฉบับหนึ่ง เรื่อง "ห้องสิน สถาปนาเทพเจ้าจีน" (ต้นเรื่องของหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องตำนานเทพประยุทธ์) ไม่ว่าจะเป็นปีศาจจิ้งจอกเก้าหาง เทพนาจา เทพสามตาหยางเจี่ยน ฯลฯ ต่างล้วนแจ้งเกิดในยุคนี้

       การสิ้นสมัยราชวงศ์ซางเปิดศักราชราชวงศ์โจว ถือเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศจีน (แน่นอนพื้นที่ประเทศจีนในยุคนั้นยังไม่ใหญ่โตเท่ากับแผนที่ประเทศจีนในยุคปัจจุบัน) เนื่องจากชัยชนะครั้งนี้เกิดจากกองกำลังของพันธมิตร การตกรางวัลจึงใช้ระบบการ "แบ่งเค้ก" แม่ทัพนายกอง หรือเชื้อพระวงศ์ที่มีความดีความชอบในศึกสงครามจะได้รับแผ่นดินส่วนหนึ่งให้ไปปกครองโดยอิสระ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องอยู่ภายใต้การเห็นชอบของรัฐบาลกลาง (ก็คือฝ่ายของโจวเหวินหวาง) และส่งส่วยมายังวังหลวง---หน่วยกลางทุกปี

       ในยุคเริ่มแรกมันก็ดีอยู่หรอก เมื่อรัฐบาลกลางยังเข้มแข็ง และเหล่าเจ้าเมืองยังจงรักภักดี แต่เมื่อหลายรัชสมัยผ่านไป รัฐบาลกลางเริ่มอ่อนแอ เกิดผู้สืบทอดที่ไร้ประสิทธิภาพ หรือกระทั่งทำตัวเป็นทรราชไร้คุณธรรม หัวเมืองต่างๆ ที่เข้มแข็งก็เริ่มแข็งข้อไม่รับนโยบายจากส่วนกลาง ไม่ส่งบรรณาการเข้าวังหลวง ทั่วประเทศจากเป็นหนึ่งเดียวก็แตกออกเป็นก๊ก แคว้นน้อยใหญ่นับร้อย (เหมือนกับสหภาพโซเวียตในปัจจุบัน) แต่ละแคว้น-ก๊กก็ตั้งชื่อประเทศตามสกุลแซ่ของเจ้าเมือง เช่น แคว้นเว่ย แคว้นจ้าว แคว้นฉิน เป็นต้น ยุคนี้ในประวัติศาสตร์จีนเรียกมันว่า "เลียดก๊ก" หรือ "ชุนชิว"

       ช่วงต้นของยุคชุนชิวถือเป็นยุคทองของแผ่นดิน มันเป็นยุคสมัยแห่งการเดินทาง การเดินทางเพื่อพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง การเดินทางเพื่อสานสัมพันธ์ทางการทูต การเดินทางเพื่อแสวงหาการยอมรับ เกิดการชิงไหวชิงพริบ การพยายามเอาตัวรอด และด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมและผู้คน ศิลปวิทยาการต่างๆ จึงเฟื่องฟูถึงขีดสุด สารพัดปราชญ์ที่มักมีชื่อลงท้ายว่า "จื๊อ" ต่างก็เกิดขึ้นในยุคนี้ เช่น เล่าจื๊อ ขงจื๊อ จวงจื๊อ เม่งจื๊อ ฯลฯ พากันตั้งสำนักร่ายตำรามากมาย กลายเป็นหัวใจแห่งภูมิปัญญาจีนที่ตกทอดและมีอิทธิพลมาจนปัจจุบัน สำนวนจีนเรียกยุคทองช่วงนั้นว่า "ร้อยบุปผาบานพร้อม" (百花齐放)

       แต่บรรยากาศอันสุขสงบเหล่านั้นถือว่าเป็นความสงบก่อนพายุจะมา

       เพราะความรุ่งเรืองนั้นดำรงอยู่ได้ไม่นาน เมื่อบรรดาเจ้าเมืองทั้งหลายไม่พึงพอใจกับความยิ่งใหญ่ของตนเอง ต้องการแผ่อำนาจออกไป สงครามจึงปะทุเริ่มจากการคุกคามประเทศเพื่อนบ้าน ไปสู่การล่าอาณานิคมที่อยู่แดนไกลออกไป ประเทศจีนก้าวสู่ยุคสมัยที่เรียกว่า "จ้านกั๋ว" (战国) มีผู้แปลเป็นไทยว่า "ยุครณรัฐ" ก็คือยุคแห่งสงคราม สารพัดหนังจีนได้ใช้ภูมิหลังในช่วงนี้เป็นฉากหลักในการสร้างภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ขึ้นมามากมาย แม่นางไซซี หนึ่งในสี่ยอดดรุณีจีนก็เกิดในยุคนี้

       Little big Soldier ใหญ่พลิกแผ่นดินฟัด ที่นำแสดงโดย เฉินหลงกับหวังลี่หง ก็จำลองเหตุการณ์มาจากยุคนี้

       A Battle of Wits มหาบุรุษกู้แผ่นดิน (墨攻) ภาพยนตร์จีนฟอร์มยักษ์เรื่องหนึ่งที่ผมชอบมาก นำแสดงโดย เฮียหลิวฯ ก็ใช้เหตุการณ์หนึ่งในยุคนั้นเป็นฉากดำเนินเรื่อง โดยที่พระเอกก็เป็นผู้สืบทอดปรัชญาของ "สำนักมว่อ" จากยุคชุนชิว

       ในศึกสงครามภายในดังกล่าว ก๊กแคว้นที่มีจำนวนหลักร้อย สุดท้ายกลืนไปกลืนมาเหลือเป็นยักษ์ใหญ่เจ็ดแคว้นด้วยกันได้แก่ ฉี ฉู่ หาน จ้าว เว่ย เยี่ยน ฉิน สุดท้ายแคว้นฉินที่นำโดยกษัตริย์อิ๋งเจิ้งก็เป็นฝ่ายกำชัยสูงสุด บุกยึดแคว้นก๊กอื่นๆ สำเร็จ และสถาปนาตนเองขึ้นเป็น "ฉินสื่อหวง" หรือ "จิ๋นซีฮ่องเต้" ปฐมฮ่องเต้แห่งชนชาติจีนนั่นเอง

       ภาพยนตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วงนี้ที่ผมประทับใจและยกมากล่าวถึงบ่อยๆ เวลาสอนนักเรียนเรื่องประวัติศาสตร์จีนก็คือ "ฮีโร่" ที่นำแสดงโดยหลี่เหลียนเจี๋ย เหลียงเฉาเหว่ย จางมั่นอวี้ เจิ้งจื่อตัน จางซิอี้ นั่นเอง

       ราชวงศ์ฉินเป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่แต่อายุสั้น ยิ่งใหญ่ถึงขั้นที่เราเรียกประเทศจีนว่า "จีน" ในทุกวันนี้ก็เป็นเพราะผันเสียงมาจากคำว่า "ฉิน" จิ๋นซีฮ่องเต้แม้จะถูกหมายปองชีวิตจากคนทั้งแผ่นดิน แต่สุดท้ายก็ต้องถือว่า "ตายดี" เพราะป่วยตายอยู่บนเตียง (ที่ว่ากันว่าอยู่ระหว่างการเดินทางแสวงหายาอายุวัฒนะ) ไม่ต้องตายในการรบ ไม่ได้ถูกลอบสังหาร แต่ด้วยความเด็ดขาดจนโหดเหี้ยมในการปกครอง การเกณฑ์ประชาชนไประดมสร้างกำแพงเมืองจีน การบังคับใช้กฎหมายอันอำมหิต ก็ทำให้ท้ายสุดก็เกิดกบฏ ประชาชนลุกฮือขึ้นมาโค่นล้มราชวงศ์นี้ลง โดยที่ราชวงศ์ฉินมีอายุได้เพียงสิบห้าปีเท่านั้น

       ในการชำระประวัติศาสตร์แม้จิ๋นซีฮ่องเต้จะมีความผิด ความเหี้ยมโหด ความเผด็จการอย่างเกินอภัยในหลายด้าน (เช่น การเผาตำราฆ่าบัณฑิต) แต่คนรุ่นหลังก็ยังประเมินความดีความชอบของเขาเอาไว้สูง เพราะเขาเป็นผู้ปฏิรูป "ภาษาเขียน" และระบบชั่งตวงวัดให้เป็นหนึ่งเดียวกันทั้งประเทศ (จากเดิมมีนับร้อยๆ อย่าง) อันเป็นพื้นฐานของความเป็นปึกแผ่นของแผ่นดินในกาลต่อมา อีกทั้งการ "ยุติสงครามด้วยสงคราม" การรวบแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียวช่วยกำจัด "แนวรบบนแนวชายแดน" เมื่อสมัยยังเป็นก๊กแคว้นให้หมดไปได้จริงๆ...แม้จะแลกด้วยชีวิตของคนนับไม่ถ้วนก็ตามที

       เรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับการแสวงหา "ยาอายุวัฒนะ" ของจิ๋นซีฮ่องเต้ยังเป็นบ่อเกิดจินตนาการไม่รู้จบ และมีอิทธิพลมากกระทั่งพาดพิงไปถึงเรื่องชาติกำเนิดของประเทศญี่ปุ่นกันเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังเป็นพล็อตเรื่องที่นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ต่างๆ อีกหลายเรื่อง ส่วนที่ผมประทับใจเป็นการส่วนตัวก็เช่น

"เทียนฟง คนตรงสามพันปี" (古今大战秦俑情) ของจางอี้โหมว

"The Myth---ดาบทะลุฟ้า ฟัดทะลุเวลา" (神话) ของเฉินหลง และ

"The Mummy 3 คืนชีพจักรพรรดิมังกร" เป็นต้น

"เจาะเวลาหาจิ๋นซี" นวนิยายที่โด่งดังของหวงอี้ ก็เล่าเรื่องของตัวเอกเซี่ยงเส้าหลงที่เดินทางผ่านเครื่องย้อนเวลากลับไปยังยุคสมัยนี้เช่นกัน

     

อ่านตอนประวัติศาสตร์จีนฉบับลัด ตอน 2

ขอบคุณภาพปก freddie marriage on Unsplash

ขอบคุณภาพปก 金金 陶 on Unsplash

ขอบคุณภาพ จักรพรรดิเหลืองจาก https://th.wikipedia.org

ขอบคุณภาพ กษัตริย์โจ้วหวางจาก https://th.wikipedia.org/

 

Top Hit


Special Deal