(* กดเพื่อเปลี่ยนสีพื้นหลัง)

ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์จีนฉบับลัด ตอน 2

       ราชวงศ์ฉินถูกโค่นล้มด้วยกองทัพของกบฏชาวนาซึ่งแบ่งออกเป็นสองพวกคือ เซี่ยงอวี่ และหลิวปัง เซี่ยงอวี่ก็คือฉู่ป้าหวัง หรือที่คนไทยจะรู้จักมากกว่าในชื่อของฌ้อปาอ๋อง ส่วนหลิวปังก็คือฮั่นเกาจู่ (ฮั่นโกโจ) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่น ที่เล่าปี่แห่งสามก๊กอ้างนักอ้างหนาว่าตนเป็นเชื้อพระวงศ์ที่สืบสกุลมาจากท่านผู้นี้

       ศึกโค่นบัลลังก์จิ๋นซีดูจะไม่หวือหวาเท่าศึกชิงบัลลังก์กันเองระหว่างสองพันธมิตรเซี่ยงอวี่และหลิวปัง เนื่องด้วยต่างฝ่ายต่างมีกำลังพล ทีมที่ปรึกษาและขุนศึกที่มากความสามารถ มีการชิงไหวชิงพริบ เต็มไปด้วยเรื่องราวอันดุเดือดและดราม่าไม่แพ้ยุคสามก๊ก เกิดบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ และสุภาษิตสำนวนที่เกี่ยวข้องขึ้นมากมาย

       ภาพยนตร์จีนที่สะท้อนเหตุการณ์ในช่วงนั้นก็คือ White Vengeance ฌ้อป้าอ๋อง ศึกแผ่นดินไม่สิ้นแค้น (鸿门宴) (น่าเบื่อนิดนึง)

       ศึกชิงบัลลังก์ระหว่างสองพยัคฆ์จบลงที่หลิวปังเป็นผู้กำชัย สถาปนาตนขึ้นเป็นพระเจ้าฮั่นเกาจู่ (ฮั่นโกโจ) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่นอันยิ่งใหญ่ที่มีอายุขัยอยู่ในเส้นเวลาแห่งประวัติศาสตร์จีนกว่าสี่ร้อยปี ความเกรียงไกรของราชวงศ์ฮั่นทำให้จนถึงปัจจุบันชาวจีนยังคงเรียกตนเองว่า "ชาวฮั่น" และภาษาจีนคือ "ภาษาฮั่น" ตัวอักษรจีนก็วิวัฒนาการจนสุกงอมตั้งแต่ยุคนั้นและใช้งานสืบมาจนถึงปัจจุบัน "เส้นทางสายไหม" อันโด่งดัง ก็เริ่มต้นในยุคนี้

       ราชวงศ์ฮั่นแบ่งออกเป็นสองช่วง ได้แก่ ไซฮั่น (ฮั่นตะวันตก) สิ้นสุดลงจากการก่อกบฏของขุนนางใหญ่หวังหมาง (王莽) ซึ่งก็เป็นเพราะความอ่อนแอของราชสำนักและปัญหาที่สะสม หวังหมางสถาปนาราชวงศ์ขึ้นมาใหม่ชื่อ "ซิน" แต่ก็ได้ครองบนบัลลังก์เพียงเก้าปีก่อนจะถูกโค่นลง กลุ่มกบฏชาวนาคืนบัลลังก์ให้แก่หลิวเสวียนซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ นับเป็นการกู้ชาติ "ฮั่น" กลับคืนมา

       ด้วยเหตุที่แผ่นดินยังลุกเป็นไฟภายหลังการเกิดสงครามภายใน สุดท้ายกองกำลังของ "หลิวซิ่ว" ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์เช่นกันก็ปราบเหล่ากบฏจนสำเร็จ รวบรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง หลิวซิ่วก็คือพระเจ้ากวงอู่ตี้ขึ้นครองราชย์โดยคงชื่อราชวงศ์ให้เป็น "ฮั่น" ดังเดิม แต่เนื่องจากได้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองฉางอานซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกมาตั้งใหม่ที่เมืองลั่วหยางทางฝั่งตะวันออก นักประวัติศาสตร์รุ่นหลังจึงเรียกราชวงศ์ฮั่นตั้งแต่จุดเปลี่ยนนี้ว่าเป็น "ตงฮั่น" ซึ่งแปลว่าฮั่นตะวันออกนั่นเอง

       กาลอวสานของราชวงศ์ตงฮั่นก็คือมวลเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติจีนในชื่อที่คนไทยรู้จักกันดีว่า "สามก๊ก" อันประกอบด้วยฝ่ายของโจโฉ เล่าปี่ และซุนกวน หรือที่ถูกต้องคือ "เว่ย" "สู่" และ "อู๋" ซึ่งเรื่องสามก๊กนั้นมีหนังสือและข้อมูลต่างๆ อยู่ล้นตลาดแล้ว ผมขอละไว้ในฐานที่เข้าใจกันเพียงแค่นี้

 

สามก๊ก
สามก๊ก

 

       บทประพันธ์สามก๊กเริ่มต้นด้วยคำว่า "สถานการณ์ของใต้หล้ารวมนานย่อมแยก แยกนานย่อมรวม" ต้องบอกว่าเป็นคำบรรยายภาพรวมของประวัติศาสตร์จีนได้อย่างชัดเจนที่สุด สามก๊กจบลงที่ตระกูลซือหม่า (สุมา) โดยซือมาเอี๋ยน (สุมาเอี๋ยน) ได้ขึ้นครองแผ่นดินแล้วสถาปนาราชวงศ์ "จิ้น" ขึ้นมา

       ราชวงศ์จิ้นยังแบ่งออกเป็นซีจิ้น (จิ้นตะวันตก) และตงจิ้น (จิ้นตะวันออก) ราชวงศ์จิ้นตะวันตกมีอายุเพียงห้าสิบสองปีก่อนจะถึงกาล เพราะการเกิดจลาจลภายในเรียกว่า "แปดอ๋องชิงบัลลังก์" (ปาหวังจือล่วน 八王之乱) เป็นเหตุให้ราชสำนักอ่อนแอ และเหล่าชนกลุ่มน้อยได้ฉวยโอกาสบุกโจมตีจนสูญเสียดินแดนตอนเหนือ ต้องอพยพหนีลงใต้และก่อตั้งราชวงศ์ "จิ้นตะวันออก" ขึ้นใหม่ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นนักประวัติศาสตร์เรียกว่า "ห้าชนเผ่ารุกรานจีน" (อู่หูล่วนหัว 五胡乱华)

       ประเทศจีนขณะนี้ถูกแบ่งออกเป็นสองซีก "จีน" จริงๆ อยู่ซีกใต้ ปกครองในนามของราชวงศ์จิ้นตะวันออก ส่วนทางเหนือแตกออกเป็น "สิบหกแคว้นห้าชนเผ่า" (五胡十六国) ห้าชนเผ่าที่ว่า ได้แก่ ซงหนู (匈奴), เซียนเปย (鲜卑), เจี๋ย (羯), ตี (氐) และเชียง (羌) อันเป็นรากเหง้าสำคัญที่ทำให้เกิดการแตกแยกของแผ่นดินจีนอีกหลายครั้งในภายหลัง

       ในนวนิยายกำลังภายในเรื่อง "แปดเทพอสูรมังกรฟ้า" ของกิมย้ง ตัวละครหนึ่งชื่อคุณชายมู่หยงฟู่ที่เขาเคลมว่าตระกูลของตนมีสิทธิ์อันชอบธรรมในการครองแผ่นดินจีน ก็สืบเนื่องมาจากตระกูลมู่หยงเป็นตระกูลกษัตริย์ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบหกแคว้นดังกล่าวนี้นี่แหละ

 

แปดเทพอสูรมังกรฟ้า
นวนิยาย 8 เทพอสูรมังกรฟ้า

 

       ในขณะที่แผ่นดินตอนเหนือสิบหกแคว้นห้าชนเผ่าก็ตกสู่ยุคสงครามที่รุกรานกันเองอยู่นั้น บนไทม์ไลน์เดียวกันราชวงศ์จิ้นตะวันออกก็ดำเนินต่อไป ผ่านไประยะหนึ่งบ้านเมืองเริ่มเข้าที่เข้าทาง ขณะเดียวกันกับแผ่นดินตอนเหนือก็เริ่มเป็นปึกแผ่นโดยแคว้น "เฉียนฉิน" มีอิทธิพลสูงสุด

       เฉียนฉินซึ่งนำโดยฟู่เจียน (苻坚) ถือตนว่ามีกำลังพลเหนือกว่าฮึ่มๆ อยากจะนำทัพลงใต้เพื่อขยายดินแดน ขณะเดียวกันฝ่ายจิ้นตะวันออกก็มีความคิดจะกรีธาทัพขึ้นเหนือเพื่อทวงแผ่นดินคืน สุดท้ายก็เกิดสงครามครั้งประวัติศาสตร์ที่มีชื่อว่า "สงครามแม่น้ำเฝยสุ่ย" (淝水之战) ซึ่งปิดฉากลงโดยราชวงศ์จิ้นเป็นฝ่ายชนะด้วยกำลังพลแปดหมื่นต่อแปดแสน

       เสร็จศึกสงครามแม่น้ำเฝยสุ่ย แผ่นดินตอนเหนือที่เป็นปึกแผ่นแล้วเริ่มแตกแยกอีกครั้ง เหล่าหัวเมืองที่เคยสวามิภักดิ์เริ่มประกาศตนเป็นเอกราช ศึกสงครามเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า นวนิยายกำลังภายในเรื่องหนึ่งที่ผู้อ่านชาวไทยรู้จักดี "จอมคนแผ่นดินเดือด" ของหวงอี้ ก็เริ่มเรื่องโดยอิงประวัติศาสตร์ช่วงนี้ โดยกินระยะเวลายาวข้ามไปจนถึงช่วงราชวงศ์สุย-ถัง

 

จอมคนแผ่นดินเดือด
นวนิยาย จอมคนแผ่นดินเดือด

 

       บนไทม์ไลน์เดียวกันอีกครั้ง แผ่นดินตอนใต้ซึ่งก็คือราชวงศ์จิ้นตะวันออกเกิดศึกชิงบัลลังก์โดยตระกูลใหญ่ และสุดท้ายแผ่นดินก็เปลี่ยนมาสู่มือของ "หลิวอวี้" (刘裕) เป็นอันปิดฉากราชวงศ์จิ้นตะวันออกและเปิดศักราชใหม่ เข้าสู่ยุคที่เรียกว่า "ราชวงศ์เหนือ-ใต้" (南北朝) อันได้แก่ "ซ่ง" "ฉี" "เหลียง" "เฉิน" ตามลำดับ

       หากใครคุ้นชื่อของ "พระโพธิธรรมตั๊กม้อ" นักบวชชาวอินเดียเดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศจีน เจ้าของ "คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น" "คัมภีร์ล้างไขกระดูก" อันลือลั่น ปรมาจารย์แห่งวิทยายุทธ์ของวัดเส้าหลิน รวมทั้งเป็นปฐมอาจารย์แห่งนิกายเซนแล้วละก็ นักบวชตัวดำตาโตผู้นี้ก็มาถึงเมืองจีนในยุคราชวงศ์เหนือใต้นี่เอง

 

พระโพธิธรรมตั๊กม้อ
พระโพธิธรรมตั๊กม้อ

 

       ขณะเดียวกันแผ่นดินตอนเหนือก็มีการปกครองอยู่ใครอยู่มันเช่นกัน ซึ่งราชวงศ์ฝ่ายเหนือ ได้แก่ "เป่ยเว่ย" "ตงเว่ย" "ซีเว่ย" "เป่ยฉี" และ "เป่ยโจว" ตามลำดับ

       "Mulan มู่หลาน วีรสตรีโลกจารึก" (จ้าวเวย, เฉินคุน, หูจวิน, ฝางจู่หมิง) ภาพยนตร์ที่บอกเล่าตำนานของวีรสตรีที่เข้ารับราชการทหารแทนพ่อก็เป็นเรื่องราวของแคว้น "เป่ยเว่ย" ในยุคนี้

       ราชวงศ์เหนือ-ใต้สิ้นสุดลงด้วยฝีมือของฮ่องเต้ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง พระเจ้าสุยเหวินตี้---หยางเจียนซึ่งเดิมเป็นทายาทของตระกูลใหญ่และครองราชย์บนแผ่นดินเหนือแคว้น "เป่ยโจว" จากการช่วงชิงบัลลังก์มาจากกษัตริย์องค์เดิม

       พระเจ้าสุยเหวินตี้กรีธาทัพลงใต้ เปิดสงครามรวบรวมแผ่นดินจีน สถาปนาราชวงศ์สุยขึ้น ประเทศจีนที่แตกเป็นเสี่ยงๆ ตั้งแต่ยุคหลังราชวงศ์จิ้นตะวันตกเป็นเวลาถึง 280 ปีได้กลับมาเป็นปึกแผ่นอีก

       พระเจ้าสุยเหวินตี้ทรงเป็นนักพัฒนาที่ปรีชาสามารถ ในระยะเวลาครองราชย์ยี่สิบสี่ปีได้เปลี่ยนประเทศจากยุคสงครามเข้าสู่ความมั่งคั่งรุ่งเรือง อีกทั้งยังได้วางระบบการปกครอง ระบบทะเบียนราษฎร์ไปจนถึงระบบการสอบบรรจุเพื่อเข้ารับราชการ หรือที่เราเรียกว่าการสอบจอหงวนซึ่งเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศจีนมาจนถึงปัจจุบัน

       ราชวงศ์สุยแม้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในประวัติศาสตร์แต่ก็มีอายุสั้นมาก เหมือนทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ส่งต่อความสำเร็จให้แก่ราชวงศ์ถัง เหตุเพราะพระเจ้าสุยหยางตี้---หยางก่วงรัชกาลที่สองของราชวงศ์สุยเป็นผู้บ้าอำนาจ หาความสุขสำราญเกณฑ์ไพร่พลมาสร้างคลองขุด ขูดเลือดขูดเนื้อประชาราษฎร์จนเกิดการต่อต้าน และท้ายที่สุดก็ถูกโค่นล้มโดยกองทัพของหลี่ซื่อหมินซึ่งได้สถาปนาราชวงศ์ถังขึ้นในกาลต่อมา

       สงครามระหว่างสุยกับถัง พระเจ้าสุยหยางตี้กับหลี่ซื่อหมินมีการสร้างเป็นละครทีวีที่โด่งดังมากในยุคหนึ่ง (ที่ผมเกิดทันและชอบนักชอบหนาตามดูทุกเย็น) เรื่อง "ศึกลำน้ำเลือด" ในส่วนภาพยนตร์ "เสี้ยวลิ้มยี่" (少林小子) หนังแจ้งเกิดของหลี่เหลียนเจี๋ย หรือเจ็ตลีซูเปอร์สตาร์กังฟูชาวจีนก็นำเสนอเหตุการณ์ในตำนานเรื่องพระวัดเส้าหลินช่วยชีวิตหลี่ซื่อหมินว่าที่ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ถังนี้ และในส่วนนวนิยายกำลังภายในที่อิงประวัติศาสตร์ช่วงนี้ก็คือ "มังกรคู่สู้สิบทิศ" ของหวงอี้เจ้าเก่า อีกแล้วครับท่าน

อ่านตอนประวัติศาสตร์จีนฉบับลัด ตอน 3

 

ขอบคุณภาพปก freddie marriage on Unsplash

ขอบคุณภาพปก 金金 陶 on Unsplash

ขอบคุณภาพสามก๊ก จาก http://www.samkokthai.com/

ขอบคุณภาพนวนิยาย 8 เทพอสูรมังกรฟ้า , นวนิยายจอมคนแผ่นดินเดือด จากสยามอินเตอร์บุ๊ค

ขอบคุณภาพพระโพธิธรรมตั๊กม้อ จาก http://sihawatchara.blogspot.com/2015/03/blog-post_11.html

Top Hit


Special Deal