(* กดเพื่อเปลี่ยนสีพื้นหลัง)

ประวัติศาสตร์

สามปราชญ์แห่งชุนชิว ยุคสมัยของการแตกหน่อทางความคิด

      ยุคชุนชิวจั้นกว๋อเป็นยุคสมัยของการแตกหน่อทางความคิด ปรากฏปราชญ์เมธีที่ได้รับการจารึกนามในประวัติศาสตร์และฝากผลงานสืบทอดถึงอนุชนรุ่นหลังหลายท่าน ในที่นี่จะขอหยิบยกมาสามคนด้วยกัน

นักปราชญ์ท่านแรกคือเมิ่งจื๊อ

      หากจะบอกว่าขงจื๊อคือบิดาแห่งปรัชญากรีกโสคราตีส เมิ่งจื๊อก็นักปรัชญากรีกผู้มีอิทธิพลต่อแนวความคิดของนักปรัชญายุคต่อมาคือพลาโต้

      เมิ่งจื๊อชาตะก่อนคริสต์ศักราช 372 ปี มรณะก่อนคริสต์ศักราช 289 ปี มีชื่อเดิมว่าเคอ เป็นชาวเมืองชู

      ตระกูลเมิ่งรับราชการเป็นขุนนางในรัฐลู่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของขงจื๊อ เมิ่งจื๊อก็ฝากตัวเป็นศิษย์ของจื่อซือ ซึ่งเป็นศิษย์ชั้นที่สามของขงจื๊อ เท่ากับว่าเมิ่งจี๊อเป็นศิษย์ชั้นที่สี่ของขงจื๊อ และเป็นผู้เผยแพร่ลัทธิหยูของขงจื๊อให้ขจรขจายออกไป

      เมิ่งจื๊อเชื่อว่า ธรรมชาติแห่งจิตสันดานของมนุษย์นั้นดีงาม มีสภาพเป็นกุศล ทุกคนไม่ปรารถนาเป็นคนเลว ที่กลับกลายเป็นคนชั่วช้าเพราะสิ่งแวดล้อมชักนำให้เป็นไป

      เมิ่งจี๊ออุปมาอุปไมยว่า ธรรมชาติแห่งจิตอันดีงามของมนุษย์ประดุจกระแสน้ำไหลลงสู่ที่ต่ำ การสกัดกั้นน้ำโดยวิธีการผิดธรรมชาติเช่นดันขึ้นสู่เขาสูง แท้จริงเป็นแรงดันของสิ่งอื่น มนุษย์ที่ทำความชั่วเฉกเช่นเดียวกับน้ำที่ถูกดันขึ้นสู่ที่สูงนั่นเอง

      ด้านหลักการปกครอง เมิ่งจื๊อเสนอการปกครองโดยธรรม ใช้หลักเมตตากรุณา และคุณธรรมที่ซื่อสัตย์ ปกครองแผ่นดินให้เกิดความสันติสุข

      เขาเสนอให้ลดบทลงโทษ ลดการเก็บภาษีอากร บรรเทาความเดือดร้อนของราษฏร

      เมิ่งจื๊อตระเวนเผยแพร่คำสอนอยู่ตามรัฐฉีซึ่งเป็นรัฐใหญ่ และรัฐเหลียงที่เป็นรัฐเล็ก เขาประณามการทำสงครามมีรบพุ่ง เรียกขานเหล่าทรราชเป็นแค่ “บุรุษหนึ่ง” หาใช่เจ้าแห่งรัฐแต่อย่างไร

      แน่นอน ในยุคสมัยแห่งการสัประยุทธ์ชิงความเป็นใหญ่ คำสอนของเมิ่งจื๊อไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้มีอำนาจรัฐแต่ประการใด หลังจากที่เมิ่งจื๊อถึงแก่กรรม เหล่าสานุศิษย์ค่อยรวบรวมคำสอนต่างๆ จัดทำเป็นหนังสือชื่อเมิ่งจื๊อ จนกลายเป็นหนึ่งในตำราแม่บทของลัทธิหยูรองจากขงจื๊อเท่านั้น

 

เมิ่งจื๊อ
เมิ่งจื๊อ

 

      หากจะบอกว่า เมิ่งจื๊อเป็นผู้ทำหน้าที่เผยแพร่ลัทธิขงจื๊อ อย่างนั้นผู้ที่ให้การเคารพยกย่องเจ้าลัทธิเต๋าเหลาจื๊อ คงได้แก่จวงจื๊อ ผู้แสวงหาความหลุดพ้น และไร้ซึ่งการกระทำยิ่งกว่าเหลาจื๊ออีก

      ภาพลักษณ์ของจวงจื๊อ ยังตัดกับเมิ่งจื๊อที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง กล่าวคือเมิ่งจื๊อเกิดจากตระกูลขุนนางที่มั่งคั่ง มีความเป็นอยู่อย่างเลิศหรูระหว่างที่ตระเวนเผยแพร่คำสอน จะจัดขบวนรถหลายสิบคัน มีบ่าวไพร่ผู้ติดตามหลายร้อยคนทีเดียว

      แต่ว่าจวงจื๊อกลับตรงกันข้าม เขาไม่พิถีพิถันการแต่งกาย สวมใส่เสื้อผ้าหลวมโพรก ใช้เชือกฟางรัดเอวไว้ ทั้งมีรอยปุปะเต็มไปหมด รองเท้าถักจากหญ้าฟาง ส้นทะลุเป็นรูโหว่

      จวงจื๊อเป็นชาวซ้องมีชื่อจริงว่าจวงโจว ชาตะก่อนคริสต์ศักราช 369 ปี มรณะก่อนคริสต์ศักราช 286 ปี เคยเป็นพนักงานเฝ้าต้นรักมาตรว่าฉู่เว่ยอ๋องแห่งรัฐฉู่เสนอตำแหน่งมหาเสนาบดีแห่งรัฐให้ จวงจื๊อก็ไม่ยอมรับ

      อันที่จริงจวงจื๊อไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหลาจื๊อเพียงแต่เลื่อมใสศรัทธาในลัทธิเต๋า และแสวงหาความหลุดพ้นยิ่งกว่า แนวความคิดของเหลาจื๊อคือการหลบหนี เห็นว่าการหนีคือการรุก หากแต่แนวความคิดของจวงจื๊อคือความเศร้าโศกหงอยเหงา เขาเห็นว่าสิ่งที่คงอยู่ล้วนสมเหตุสมผล สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป็นความถูกต้อง

      จวงจื๊อบอกว่า “ขาของเป็ดแม้สั้น ถ้าท่านต่อขาให้มัน มันคงเกิดความกลัว คอของกระเรียนแม้ยาว ถ้าท่านตัดมันสั้นลง มันคงเศร้าเสียใจ สิ่งที่ยาวอยู่แล้วอย่าได้บั่นให้สั้นลง สิ่งที่สั้นอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องยืดยาวขึ้น” ฉะนั้นจวงจื๊อคร้านที่จะหลบหนี เพียงแต่ทนฝืนมีชีวิตอยู่ต่อไป

      จวงจื๊อไม่จริงจังต่อทุกเรื่องราว โดยบอกว่า “พวกเราสองคนถกเถียงกัน ท่านชนะเรา หมายความว่าท่านถูกหรือ หรือว่าตัวเราชนะท่านถือว่าเราถูกหรือ บางทีทั้งสองคนอาจถูกหมด และบางทีทั้งสองคนอาจผิดหมด ไม่มีใครตัดสินด้วยความเที่ยงธรรมได้”

      เมื่อไม่แน่ใจว่าใครผิดใครถูก ก็ไม่สามารถตัดสินความดีกับความเลว ดังนั้นไม่จำเป็นต้องสดุดีคุณงามความดี และต่อต้านความเลวร้ายไม่เพียงแต่สิ่งที่เป็นนามธรรม

      นอกจากนี้จวงจื๊อยังไม่แน่ใจว่าตัวเองมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ มีอยู่วันหนึ่ง เขานอนหลับฝันไป ฝันว่ากลายเป็นผีเสื้อโบยบินไปมาอย่างมีความสุข หลังจากตื่นขึ้นมา เขาบอกว่าเขาไม่แน่ว่าเขาในความฝันกลายเป็นผีเสื้อ หรือว่าผีเสื้อในฝันกลายเป็นเขา

      จวงจื๊อมีภรรยาคนหนึ่ง เมื่อภรรยาของเขาเสียชีวิตเพื่อนคู่หูของจวงจื๊อนามฮุ่ยซือไปเคารพศพนางที่กระท่อมของจวงจื๊อ กลับเห็นจวงจื๊อเคาะอ่างล้างหน้าโก่งคอร้องเพลง ทั้งนี้ก็เพราะว่าจวงจื๊อเห็นซึ้งถึงกฎแห่งวัฏสงสาร มองว่าความเป็นกับความตายหามีข้อแตกต่างกันไม่

      สิ่งที่จวงจื๊อแสวงหา คือความเป็นอิสรภาพโดยไม่ถูกจำกัดใต้จารีตของสังคม ใต้รูปกายสังขารของตัวเอง รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและลัทธิคำสอนของสำนักใด

จวงจื๊อไม่ได้รับศิษย์ เขาเขียนคัมภีร์จวงจื๊อตกทอดถึงชนรุ่นหลัง มีทั้งสิ้น 55 บท ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 33 บท ประกอบด้วยบทใน 7 บท บทนอก 11 บท และบทปกิณะ 11 บท โดยเขียนในรูปบทสนทนา หรือเป็นนิทานคำบอกเล่าด้วยภาษาหนังสือที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง

 

จวงจื๊อ
จวงจื๊อ

 

      ปราชญ์เมธีท่านสุดท้าย เป็นบุคคลที่เคยเอ่ยนามมาหลายครั้ง เนื่องจากลูกศิษย์ของท่านคือ หลี่ซือเป็นถึงมหาเสนาบดีรัฐฉิน ท่านผู้นี้คือสวินจื่อ

      สวินจื่อเป็นชาวจ้าว มีชื่อจริงว่าสวินค่วง ปีที่เกิดไม่แน่ชัด ประมาณว่าเกิดก่อนคริสต์ศักราช 313 ปี เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องผู้คนจึงเรียกขานเป็น “สวินชิง” แปลว่าท่านอำมาตย์สวิน เมื่ออายุห้าสิบค่อยเดินทางไปเผยแพร่คำสอนที่รัฐฉี จนรับตำแหน่งผู้เซ่นสรวงสุราของรัฐฉีติดต่อกันสามครั้ง

      ตำแหน่งผู้เซ่นสรวงสุราเป็นตำแหน่งอันเกริกเกียรติ ทำหน้าที่เซ่นสรวงบูชาฟ้าดิน การดำรงตำแหน่งดังกล่าวของสวินจื่อ เป็นที่อิจฉาตาร้อนของบุคคลบางกลุ่ม ทำการปรักปรำให้ร้ายสวินจื่อ จึงออกจากรัฐฉีไปยังรัฐฉู่ มหาเสนาบดีรัฐฉู่ชุนเซินจวินแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลแคว้นหลานหลิง ซึ่งสวินจื่อใช้ชีวิตอยู่ที่นั้นจวบจนสิ้นอายุขัย

      ปรัชญาที่เป็นหัวใจสำคัญของสวินจื่ออยู่ที่คำว่า “จิตสันดานของมนุษย์นั้นชั่วร้าย พฤติกรรมที่ดีงามล้วนได้รับปรุงแต่งขึ้น”

      ข้อความนี้มีผู้เข้าใจไขว้เขว โดยเฉพาะสานุศิษย์ของขงจื๊อ โจมตีสวินจื่อว่าสวินจื่อหาว่าพฤติกรรมที่ดีงามของมนุษย์ล้วนแสร้งกระทำขึ้น แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว คำว่า “เหว่ย” ซึ่งแปลว่าเสแสร้งของสวินจื่อ เป็นการประสมจากคำว่า “เหยิน” ซึ่งแปลว่ามนุษย์ กับ คำว่า “เหวย” ปรุงแต่งของมนุษย์ หาใช่แปลว่าเสแสร้งไม่

      สวินจื่อเห็นว่า จิตสันดานของมนุษย์นั้นชั่วร้าย มีความเห็นแก่ตัว คิดใคร่ครอบครองมาแต่กำเนิด จึงจำต้องมีหลักนิติธรรม ควบคุม พฤติกรรมของผู้คน ให้ประพฤติดีประพฤติชอบ

      เนื่องจากราชวงศ์ฉินปกครองประเทศด้วยการกดขี่ จึงครองแผ่นดินเพียงสิบห้าปี ก็ถูกหลิวปังล้มล้างไป และสถาปนาราชวงศ์ฮั่นขึ้นมาแทนที่ ต่อมาในรัชสมัยฮั่นอู่ตี้ฮ่องเต้ มีราชบัณทิตนามต่งจงชู กราบทูลเสนอให้ราชวงศ์ฮั่นยกย่องลัทธิหยูของปราชญ์ขงจื๊อแต่เพียงสำนักเดียงนับแต่นั้นเป็นต้นมา ลัทธิขงจื๊อจึงครองใจชนชาติจีนสืบต่อกันเป็นเวลาหลายพันปี

 

สวินจื่อ
สวินจื่อ

 

เรียบเรียงเนื้อหาโดย น.นพรัตน์

ขอบคุณภาพ เมิ่งจื๊อ จาก  http://news.xinhuanet.com/photo/2013-09/25/4065517069964863841n.jpg

ขอบคุณภาพ จวงจื๊อ จาก http://image.digitalarchives.tw/ImageCache/00/59/89/88.jpg

ขอบคุณภาพ สวินจื่อ จาก https://upload.wikimedia.org/wikipedia

ขอบคุณภาพปกจาก pixabay

Top Hit


Special Deal